สส.กฤช ศิลปชัย พรรคประชาชน รับยื่นหนังสือจากกลุ่ม Beach for Life ขอให้ตรวจสอบโครงการกำแพงกันคลื่นหาดสนกระซิบและหาดดวงตะวัน จ.ระยอง กรณีผู้รับเหมาทิ้งงาน และควรยกเลิกโครงการเพราะไม่มีการกัดเซาะรุนแรง
23 เมษายน 2568
วันพุธที่ 23 เมษายน 2568 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายกฤช ศิลปชัย สส.พรรคประชาชน รับยื่นหนังสือจากนายอภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for Life เรื่อง ขอให้ตรวจสอบโครงการกำแพงกันคลื่นหาดสนกระซิบและหาดดวงตะวัน จ.ระยอง ด้วยกลุ่ม Beach for life พบว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ชายหาดสนกระซิบและหาดวงตะวัน จ.ระยอง ภายใต้งบประมาณประจำปี 2564 โดยมีโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล หมู่ที่ 3 หาดดวงดะวัน ต.เเกลง จ.ระยอง ความยาว 820 เมตร มูลค่าโครงการ 77,760,000 บาท สัญญาจ้างเลขที่ 42/2565 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 เริ่มสัญญา 30 พฤศจิกายน 2564 สิ้นสุดสัญญา 30 ตุลาคม 2566 โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายหาดหนองเเฟบเเละหาดสนกระซิบ ต.มาบตาพุด จ.ระยอง ความยาว 890 เมตร มูลค่าโครงการ 59,375,000 บาท สัญญาจ้างเลขที่ 43/2565 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 เริ่มสัญญา 30 พฤศจิกายน 2564 สิ้นสุดสัญญา 30 ตุลาคม 2566
จากการตรวจสอบการดำเนินใช้งบประมาณและการดำเนินโครงการกำแพงกันคลื่นโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ทั้ง 2 โครงการนั้น พบว่า โครงการดังกล่าวได้หมดสัญญามาแล้ว 2 ปี แต่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ มีการตอกเสาเข็มไว้บนพื้นชายหาดบางส่วน สื่อมวลชนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการและได้รับการยืนยันว่า โครงการดังกล่าวนั้นผู้รับจ้างได้ทิ้งงานไป ทางกลุ่มฯ ได้ติดตามการดำเนินโครงการกำแพงกันคลื่นและการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยมีข้อสังเกตว่า โครงการทั้งสองของกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นใน 2 พื้นที่ชายหาด คือ หาดสนกระซิบและหาดดวงตะวัน จ.ระยอง โดยอ้างเหตุผลและความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ในช่วงระหว่างที่โครงการกำแพงกันคลื่นนั้น ไม่ต้องจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทำให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้โดยง่าย และขาดความรอบคอบในการศึกษาออกแบบโครงการ รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ข้อมูลอัตราการกัดเซาะชายฝั่งจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตามมติคณะรัฐมนตรีนั้นพบว่า ช่วงระยะเวลาปี 2565 - 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้รับจ้างได้ทิ้งงานไปนั้น ชายหาดทั้งสองแห่งมีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งน้อย บางตำแหน่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่จำเป็นของโครงการต่อไปแล้ว และหากจะดำเนินโครงการต่อไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชายหาดและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นมีตัวอย่างพิสูจน์ในหลายพื้นที่แล้วว่า โครงการในลักษณะดังกล่าวนั้นไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันชายฝั่ง อีกยังส่งผลกระทบต่อชายหาด ทำให้หาดทรายหายไป เกิดการกัดเซาะชายฝั่งต่อเนื่อง กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน และปัจจุบันโครงการประเภทกำแพงกันคลื่นนั้นต้องดำเนินการศึกษากระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนการดำเนินโครงการ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุผลและข้อสังเกตดังกล่าว ทางกลุ่มฯ จึงขอให้คณะ กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ช่วยตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณโครงการกำแพงกันคลื่นหาดสนและหาดดวงตะวัน จ.ระยอง โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงตรวจสอบถึงความจำเป็นของโครงการในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และหากโครงการดังกล่าวไม่มีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในอนาคตหากดำเนินการแล้วเสร็จนั้น ขอให้คณะ กมธ. มีมติไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองยกเลิกโครงการดังกล่าวและคืนงบประมาณ รวมถึงฟื้นฟูสภาพชายหาดให้กลับมามีสภาพดังเดิม หรือแสวงหามาตรการอื่นที่เหมาะสมต่อพื้นที่และชุมชน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินมีประสิทธิภาพ เกิดความรอบคอบ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์แก่ประชาชน
นายกฤช ศิลปชัย กล่าวว่า ตนได้รับการติดต่อจากกลุ่ม Beach for Life ที่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการสร้างกำแพงกันคลื่นที่มีผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลและทิ้งงาน จนปัจจุบันกำแพงกันคลื่นดังกล่าวยังสร้างไม่เสร็จ ทั้งที่ครบอายุสัญญางานแล้ว จึงจะยื่นเรื่องดังกล่าวให้กับประธานคณะ กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ เพื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณในโครงการดังกล่าวต่อไป และเห็นด้วยกับทางกลุ่มฯ หากชายหาดไม่มีการกัดเซาะที่รุนแรงก็ไม่ควรที่จะสร้างกำแพงกันคลื่น