รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คนและมาจากบัญชีรายชื่อของ พรรคการเมืองจำนวน 100 คน เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนในการเข้าไปทำหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวมตามมาตรา 3 วรรคสอง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัด แห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตาม มาตรา 114 จึงได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ดังนี้
1. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้มีการกำหนดบทบัญญัติขึ้นใหม่ว่า ในการตรากฎหมายต้องดำเนินการภายใต้บังคับมาตรา 77 กล่าวคือ ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับรัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน และเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน พึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการ ในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาใน การดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง ตลอดจนต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล เหตุผลและความจำเป็น ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา 26 ด้วย
ร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาและ ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ตามมาตรา 81
ผู้มีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติ ได้แก่
1) คณะรัฐมนตรี
2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน
3) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน เข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอตาม (2) หรือ (3) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร
ให้เสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อนและให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นสามวาระ
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร
1) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่หนึ่ง
ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการแห่ง ร่างพระราชบัญญัตินั้น
ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการทํานองเดียวกัน หลายฉบับรวมกัน สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติรับหลักการหรือไม่รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติแต่ละฉบับหรือทั้งหมดรวมกันก็ได้และเมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่าจะให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับใดเป็นหลักในการพิจารณาในวาระที่สอง
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
2) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สอง
ให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎรจะให้คณะกรรมาธิการสามัญ หรือคณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือจะให้กรรมาธิการเต็มสภาก็ได้
คณะกรรมาธิการอาจเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอนหรือแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
3) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สาม
ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติในวาระที่สามว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ โดยไม่มีการอภิปราย
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติและลงมติเห็นชอบแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา วุฒิสภาต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมานั้นให้เสร็จภายใน 60 วัน แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน ทั้งนี้ เว้นแต่วุฒิสภาจะได้ลงมติให้ขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษซึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน กำหนดวันดังกล่าวให้
หมายถึงวันในสมัยประชุม และให้เริ่มนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภา ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าว ไม่ให้นับรวมระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 139
ถ้าวุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น
ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินไปยังวุฒิสภา ให้ประธาน สภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้วุฒิสภาทราบและให้ถือเป็นเด็ดขาด หากมิได้แจ้ง ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้น ไม่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินตามมาตรา 136
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภา
เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติและลงมติเห็นชอบแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา
1) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่หนึ่ง
ให้พิจารณาและลงมติว่าจะรับร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้พิจารณาหรือไม่เห็นชอบด้วยกับ สภาผู้แทนราษฎร
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่ง ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
2) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สอง
ให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้ง หรือกรรมาธิการเต็มสภา
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
3) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สาม
ให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร หรือ ถ้าในการพิจารณาในวาระที่สองได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ ก็ให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติว่าให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่แก้ไขเพิ่มเติม ในกรณีเช่นว่านี้ มติให้แก้ไขเพิ่มเติมให้หมายความว่าให้แก้ไขเพิ่มเติมตามที่ได้พิจารณาไว้ในวาระที่สอง และมติไม่แก้ไขเพิ่มเติมให้หมายความว่าวุฒิสภาเห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมและการพิจารณาในวาระนี้ไม่มีการอภิปราย
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
เมื่อวุฒิสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเสร็จแล้ว
(1) ถ้าเห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา 81 กล่าวคือ ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
(2) ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อนและ ส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร
(3) ถ้าแก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติตามที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นไปยังสภาผู้แทนราษฎร ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา 81 ถ้าเป็นกรณีอื่น ให้แต่ละสภาตั้งบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ มีจำนวนเท่ากันตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนดประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้คณะกรรมาธิการร่วมกันรายงานและเสนอร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้วต่อสภาทั้งสอง ถ้าสภาทั้งสองต่างเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้ว ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา 81 ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย ไม่ว่าอีกสภาหนึ่งจะได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นแล้วหรือไม่ ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน
การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกันต้องมีกรรมาธิการของสภาทั้งสองมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ถ้าวุฒิสภาไม่ส่งร่างพระราชบัญญัติคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 136 ให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้ดำเนินการตามมาตรา 81 ต่อไป ตามมาตรา 137
สภาผู้แทนราษฎรจะยกร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ตามมาตรา 137 ขึ้นพิจารณาใหม่ได้ เมื่อพ้น 180 วันนับแต่
(1) วันที่วุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรสำหรับกรณีการยับยั้งตาม มาตรา 137 (2)
(2) วันที่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย สำหรับกรณีการยับยั้งตามมาตรา 137 (3)
ในกรณีดังกล่าว ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาและ ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา 81
ในกรณีที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้นั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติ เกี่ยวด้วยการเงิน สภาผู้แทนราษฎรจะยกร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้เมื่อพ้น 10 วันตามมาตรา 138
เมื่อร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา ถ้าไม่มีกรณีต้องดำเนินการตามมาตรา 148 ให้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวตามมาตรา 145
1.2. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินให้ทำเป็นพระราชบัญญัติตามมาตรา 141 วรรคหนึ่ง และในการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ต้องแสดงแหล่งที่มาและประมาณการรายได้ ผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจ่ายเงินและความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่าง ๆ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐตามมาตรา 142
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของสภาผู้แทนราษฎร
1) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่หนึ่ง
ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการ แห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
2) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สอง
ให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎรจะให้คณะกรรมาธิการสามัญ หรือคณะกรรมาธิการวิสามัญเป็นผู้พิจารณา หรือกรรมาธิการเต็มสภาก็ได้
คณะกรรมาธิการอาจเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอนหรือแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับ หลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. เงินส่งใช้ต้นเงินกู้
2. ดอกเบี้ยเงินกู้
3. เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย
ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่า โดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้ตามมาตรา 144 วรรคสอง
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
3) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สาม
ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติในวาระที่สามว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ โดยไม่มีการอภิปราย
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
ถ้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นไม่แล้วเสร็จภายใน 105 วันนับแต่วันที่ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณา ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 81 ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวมิให้นับรวมระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามมาตรา 144 วรรคสาม
ในการพิจารณาของวุฒิสภา วุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ มิได้ ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าวุฒิสภาเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 143 วรรคสาม ประกอบมาตรา 81 ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวมิให้นับรวมระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามมาตรา 144 วรรคสาม
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของวุฒิสภา
เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติและลงมติเห็นชอบแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา
1) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่หนึ่ง
ให้พิจารณาและลงมติว่าจะรับร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้พิจารณาหรือไม่เห็นชอบด้วยกับ สภาผู้แทนราษฎร
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่ง ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
2) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สอง
ให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้ง หรือกรรมาธิการเต็มสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ มิได้
ในการพิจารณาของวุฒิสภาหรือคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติหรือการกระทำ ด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมาก เป็นประมาณ
3) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สาม
ให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ มิได้ และการพิจารณาในวาระนี้ไม่มีการอภิปราย
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้สภาผู้แทนราษฎรยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาและให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา 81
เมื่อร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา ถ้าไม่มีกรณีต้องดำเนินการตามมาตรา 148 ให้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวตามมาตรา 145
1.3. การอนุมัติพระราชกำหนด
พระราชกำหนดเป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์จะทรงตราขึ้นให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ โดยการถวายคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีที่เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งไม่สามารถตราพระราชบัญญัติมาใช้บังคับให้ทันต่อสถานการณ์ เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการตราพระราชบัญญัตินานพอสมควร และอาจจะไม่ทันกับสถานการณ์ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
พระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มี 2 ประเภท ดังนี้
1. พระราชกำหนดทั่วไปตามมาตรา 172
2. พระราชกำหนดที่เกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราตามมาตรา 174
เหตุในการตราพระราชกำหนด
1. พระราชกำหนดทั่วไปตามมาตรา 172 ต้องเป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
2. พระราชกำหนดที่เกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราตามมาตรา 174 ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน
การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติแล้ว ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พระราชกำหนดโดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พระราชกำหนดโดยเร็ว ทั้งนี้ การพิจารณาพระราชกำหนดของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภา และการยืนยันการอนุมัติพระราชกำหนด จะต้องกระทำในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภานั้น ๆ
ส่วนการตราพระราชกำหนดที่เกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราอันเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน ถ้าเป็นการตราขึ้นในระหว่าง สมัยประชุม จะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน 3 วันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การอนุมัติให้พระราชกำหนดมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไปได้นั้น มีกรณีดังต่อไปนี้
1) สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนด
2) สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติพระราชกำหนดแต่วุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยัน การอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
การไม่อนุมัติพระราชกำหนดมีผลให้พระราชกำหนดนั้นตกไป มีกรณีดังต่อไปนี้
1) สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ
2) สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติแต่วุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติ ด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2. การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
2.1 การตั้งกระทู้ถาม
การตั้งกระทู้ถาม คือ คำถามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ตั้งคำถามรัฐมนตรีในเรื่องใดเกี่ยวกับงานในหน้าที่โดยจะถามเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ ตามข้อบังคับการประชุมแห่งสภานั้น ๆ
ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าไว้ด้วย ทั้งนี้ รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบกระทู้เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
สำหรับการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยรัฐสภาถือว่าการกระทู้ถามเป็นวิธีการหนึ่งที่มีความสำคัญมากและกระทู้ถามนั้นจะเกิดจากเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน เมื่อสมาชิกรัฐสภาทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนก็จะตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ เพื่อให้ ฝ่ายบริหารทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งให้ฝ่ายบริหารได้แถลงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตลอดทั้งแนวทางใน การแก้ปัญหาให้สภาได้รับทราบแนวทางในการตั้งกระทู้ถามของแต่ละยุคแต่ละสมัยจะแตกต่างกันไปตามเหตุการณ์และความสนใจของสมาชิกรัฐสภาว่ามีแนวความคิดเกี่ยวกับการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร
ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ได้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิตั้ง ข้อซักถามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเกี่ยวกับงานในหน้าที่ โดยจะถามเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ตามข้อ 144 ซึ่งกระทู้ถามมี 3 ประเภท คือ
1) กระทู้ถามสดด้วยวาจา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามได้ครั้งละหนึ่ง กระทู้ถาม ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีวาระการตอบกระทู้ถาม โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าตามข้อ 156 วรรคหนึ่ง และการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งหนึ่ง ๆ ให้บรรจุกระทู้ถามสดด้วยวาจาได้ไม่เกิน 3 กระทู้ถามตามข้อ 157 โดยมีหลักการเกี่ยวกับระยะเวลาการถามและตอบไว้ว่า กระทู้ถามสดด้วยวาจาแต่ละกระทู้ถามให้ถามได้เรื่องละไม่เกิน 3 ครั้งและต้องถามตอบให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 30 นาที เว้นแต่ในการประชุม สภาผู้แทนราษฎรครั้งใดมีกระทู้ถามสดด้วยวาจาน้อยกว่า 3 กระทู้ถาม ก็ให้ขยายเวลาออกไปอีกตามสัดส่วนภายในเวลา 60 นาทีตามข้อ 160
2) กระทู้ถามทั่วไป ให้เสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีข้อความเป็นคำถามในข้อเท็จจริงหรือนโยบาย และระบุว่าจะให้ตอบในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือในราชกิจจานุเบกษาตามข้อ 162 วรรคหนึ่ง แยกออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1) กระทู้ถามทั่วไปที่ระบุว่าจะให้ตอบในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยว่าเป็นกระทู้ถาม ให้จัดส่งไปยังนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ถูกตั้งกระทู้ถามตามข้อ 163 แล้วให้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรภายใน 15 วันนับแต่วันที่ส่งไปยังนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีตามข้อ 164 เมื่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้ตอบแล้ว ผู้ตั้งกระทู้ถามมีสิทธิซักถามได้อีกหนึ่งครั้ง เว้นแต่ จะขอซักถามต่อไปเพราะคำตอบยังไม่หมดประเด็นและประธานสภาผู้แทนราษฎรอนุญาตตามข้อ 167
เมื่อสิ้นสุดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรหนึ่ง ๆ กระทู้ถามที่ได้รับการบรรจุและยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรรวบรวมแจ้งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดำเนินการตอบในราชกิจจานุเบกษาภายใน 30 วันตามข้อ 166 วรรคสาม
2) กระทู้ถามทั่วไปที่ระบุว่าจะให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจ้งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ถูกตั้งกระทู้ถามเพื่อดำเนินการตอบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ส่งไปยังนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี เมื่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้ตอบแล้วให้ส่งราชกิจจานุเบกษาที่มีคำตอบกระทู้ถามมาเพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้ผู้ตั้งกระทู้ถามทราบ หากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ไม่สามารถตอบภายในกำหนดเวลา ให้แจ้งเหตุขัดข้องเป็นหนังสือและให้กำหนดว่าจะตอบได้เมื่อใด เพื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้ผู้ตั้งกระทู้ถามทราบตามข้อ 165
3) กระทู้ถามแยกเฉพาะ เป็นกระทู้ถามที่มีลักษณะเฉพาะเรื่อง เฉพาะพื้นที่ เฉพาะบุคคล หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบุว่าให้ตอบในห้องกระทู้ถาม ให้เสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน สภาผู้แทนราษฎรตามข้อ 168 โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรจะจัดให้มีห้องกระทู้ถามในบริเวณ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการถามและการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะได้โดยสะดวกตามข้อ 169 และ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ถูกตั้งกระทู้ถามแยกเฉพาะเพื่อมาตอบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ส่งไปยังนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีตามข้อ 170 โดยให้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรภายใน 15 วันนับแต่วันที่ส่งไปยังนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีตามข้อ 171 วรรคหนึ่ง
เมื่อสิ้นสุดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรหนึ่ง ๆ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ยังไม่ได้ตอบหรือที่ยังไม่ได้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรรวบรวมแจ้งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดำเนินการตอบในราชกิจจานุเบกษาภายใน 30 วันตามข้อ 171 วรรคสอง
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งหนึ่งให้มีกระทู้ถามแยกเฉพาะตามจำนวนที่ประธาน สภาผู้แทนราษฎรกำหนด และกระทู้ถามแยกเฉพาะแต่ละกระทู้ต้องถามและตอบให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 20 นาทีตามข้อ 173
2.2. การเปิดอภิปรายทั่วไป
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้การเปิดอภิปรายทั่วไปใน สภาผู้แทนราษฎรไว้ 2 กรณี ดังนี้
1) การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ
เมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นมีคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อการอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลง โดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไปให้ สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ การลงมติในกรณีเช่นว่านี้มิให้กระทำในวันเดียวกับวันที่ การอภิปรายสิ้นสุดลง
มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎร
รัฐมนตรีคนใดพ้นจากตำแหน่งเดิมแต่ยังคงเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งอื่นภายหลังจากวันที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ หรือพ้นจากตำแหน่งเดิมไม่เกิน 90 วันก่อนวันที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ แต่ยังคงเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งอื่น ให้รัฐมนตรีคนนั้นยังคงต้องถูกอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจต่อไปตามมาตรา 151
การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ ให้กระทำได้ปีละหนึ่งครั้ง เว้นแต่การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือ ทั้งคณะที่สิ้นสุดลงด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไปตามมาตรา 154
2) การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎร จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้ตามมาตรา 152
การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ให้กระทำได้ปีละหนึ่งครั้งตามมาตรา 154
2.3. การตั้งคณะกรรมาธิการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือคณะกรรมาธิการร่วมกันตามมาตรา 137 เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ และรายงานให้ สภาผู้แทนราษฎรทราบตามระยะเวลาที่สภากำหนด
การกระทำกิจการ การสอบหาข้อเท็จจริง หรือการศึกษาดังกล่าว ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร และหน้าที่และอำนาจตามที่ระบุไว้ในการตั้งคณะกรรมาธิการก็ดี ในการดำเนินการของ
คณะกรรมาธิการก็ดี ต้องไม่เป็นเรื่องซ้ำซ้อนกัน ในกรณีที่การกระทำกิจการ การสอบหาข้อเท็จจริง หรือการศึกษาในเรื่องใดมีความเกี่ยวข้องกัน ให้เป็นหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องดำเนินการให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกชุดร่วมกันดำเนินการ
ในการสอบหาข้อเท็จจริง คณะกรรมาธิการจะมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลใดกระทำการแทนมิได้
คณะกรรมาธิการดังกล่าวมีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นได้ แต่การเรียกเช่นว่านั้นมิให้ใช้บังคับแก่ผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาอรรถคดี หรือการบริหารงานบุคคลของแต่ละศาล และมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจโดยตรงในแต่ละองค์กรตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี
ให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในกิจการที่คณะกรรมาธิการสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาที่จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกำกับ ให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียก
ให้สภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยบันทึกการประชุม รายงานการดำเนินการ รายงานการสอบหาข้อเท็จจริง หรือรายงานการศึกษา แล้วแต่กรณี ของคณะกรรมาธิการให้ประชาชนทราบ เว้นแต่สภาผู้แทนราษฎรมีมติ มิให้เปิดเผย
เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 124 ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่และผู้ปฏิบัติตามคำเรียกนี้ด้วย
กรรมาธิการสามัญซึ่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร และในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนดอัตราส่วนดังกล่าวตามมาตรา 129
3. การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้ สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ โดยพรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลดังกล่าวก็ได้ตามมาตรา 88
การเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการ การเลือกตั้งกำหนด
(2) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 และไม่เคยทำหนังสือยินยอมตาม (1) ให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งคราวนั้น
การเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้นมาตรา 89
ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่ พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
การเสนอชื่อเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎร
มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดย การลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 159