นายทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะ กมธ.การสาธารณสุข และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นางศรินทร สนธิศิริกฤตย์ ประธานคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ คลองเตย และนายแพทย์พินัย ล้วนเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข กองทุนหลักประกันสุขภาพ กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งข้อเสนอในการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
14 กุมภาพันธ์ 2567
วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะ กมธ.การสาธารณสุข และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นางศรินทร สนธิศิริกฤตย์ ประธานคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ คลองเตย และนายแพทย์พินัย ล้วนเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข กองทุนหลักประกันสุขภาพ กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งข้อเสนอในการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ตามที่หน่วยบริการปฐมภูมิ ได้รับผลกระทบจากการจัดสรรงบประมาณ UC Model 5 ในปีงบประมาณ 2566 และปีงบประมาณ 2567 อย่างรุนแรง จนประสบปัญหาวิกฤต โดยคลินิกชุมชนอบอุ่น มีมุมมองต่อการบังคับใช้และการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ของ สปสช. ที่ส่งผลกระทบสำคัญและรุนแรง ต่อระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เกิดจากการบริหารกองทุนที่ไม่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงผลกระทบทั้งระยะสั้น ระยะยาว และการคาดการณ์ที่มีการใช้เงินจากการจ่ายและการเพิ่มการบริการแบบปลายเปิด ภายใต้งบประมาณแบบปลายปิด (Global Budget) ทำให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารและการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่มีการดำเนินการแล้ว หรือรักษาไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 - 30 ก.ย. 66 โดย สปสช. จะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ตาม Free Schedule เพียงร้อยละ 57 สำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิที่เปิดให้บริการก่อนปีงบประมาณ 2566 และจ่ายเพียงร้อยละ 70 สำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิที่เปิดให้บริการในปีงบประมาณ 2566 และยังคงดำเนินการจ่ายเพียงร้อยละ 70 ของยอดตั้งเบิกจากค่าใช้จ่ายตาม Free Schedule ที่กำหนดราคาโดย สปสช. โดยมีข้อสังเกตว่าราคาบางรายการต่ำกว่าราคากลางของประเทศ ทำให้หน่วยบริการต้องรับภาระขาดทุนแม้ว่าจะทำการเบิกในราคาตามที่ สปสช.กำหนด และในปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 ถึงเดือน ม.ค. 66 นายแพทย์พินัย ล้วนเลิศ ได้แจ้ง สปสช. และเตือนให้ สปสช. ทราบ แต่สิ่งที่ผู้บริหารสปสช. ตัดสินใจดำเนินการไม่ใช่การบริหารจัดการระบบ แต่กลับเป็นการแก้ไขปัญหาโดยการจ่ายเงินให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่นเพียงร้อยละ 70 และต่อมาในเดือน พ.ย. 66 จะทำการปรับลดเงินที่จ่ายให้กับคลินิกที่เปิดก่อนปี 2566 เหลือเพียงร้อยละ 57 โดยใช้คำว่า คลินิกฯ เป็นหนี้ จากการรับเงินเทคืนในปี งบประมาณ 2565
และในปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 ถึง 15 ม.ค. 67 พบว่ามีการใช้จ่ายเงินใน Global Budget ของกรุงเทพมหานคร ไปกว่าร้อยละ 40 ซึ่งคาดว่าเงิน Global Budget ดังกล่าวจะหมดลงประมาณเดือน มิ.ย. นี้ นั่นหมายถึงว่า สปสช. จะไม่มีเงินจ่ายให้กับหน่วยบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากการบริหารของ สปสช. สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการทำลายระบบสุขภาพตั้งแต่หน่วยบริการปฐมภูมิ ตติยภูมิ และ Excellent Center ในวงกว้าง
ดังนั้น จึงมีข้อเสนอเพื่อพิจารณาปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเร่งด่วน ดังนี้
1. ขอตรวจสอบการเงิน และระบบริหารของ สปสช. ย้อนหลัง
2. ขอให้ สปสช. ดำเนินการจ่ายเงินค้างจ่ายร้อยละ 30 ของปีงบประมาณ 2566 และ 2567 ถึงหน่วยบริการประจำคืนให้หน่วยบริการโดยเร่งด่วน
3. ปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิเป็นแบบเดียวกับการดำเนินการระดับประเทศ คือ
การจ่ายรายหัวประชากรทั้ง OP และ PP มาที่หน่วยบริการ ไม่ใช่วิธีการทำงานก่อนแล้วขอเบิก
เพราะไม่มีการจ่ายเงินตามที่ตั้งเบิก และ
4. ยกเลิกการเรียกว่า "คลินิกเป็นหนี้ สปสช." โดยขอให้ปรับเป็น สปสช. เป็นหนี้ เงินค้างจ่ายให้คลินิกฯ จำนวน 580 ล้านบาท ในปี 2566 และประมาณ 130 ล้านบาท ในปี 2567 เพราะ สปสช. ไม่มีเงินจ่ายหน่วยบริการ จึงยกหนี้ที่คลินิกฯ ไมใช่ผู้สร้างหนี้ มาให้คลินิกฯ
นายทศพร เสรีรักษ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือในที่ประชุมคณะ กมธ. โดยจะเร่งดำเนินการโดยเร็วต่อไป