ประธานคณะกมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... และคณะ แถลงผลการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ....
18 กันยายน 2567
วันพุธที่ 18 กันยายน 2567 เวลา 13.30 น. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภาน.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ประธานคณะกมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... และคณะ แถลงข่าว ผลการดำเนินงานของคณะกมธ. โดยที่คณะ กมธ.ได้ประชุมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 28 ครั้ง และรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... โดยมีเจตนารมณ์ให้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นกฎหมาย "คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม" เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์มีอัตลักษณ์และการสั่งสมทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเชื่อตามจารีตประเพณีเป็นของตนเอง จึงมีความจำเป็นต้องมีบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ให้สามารถดำรงวิถีชีวิตของตนได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ประกอบกับมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติให้รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมทางวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามสมัครใจ ได้อย่างสงบสุข โดยไม่ถูกรบกวน โดยร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้
ส่วนที่ 1 หลักพื้นฐานแห่งสิทธิและการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ (หมวด 1) มีบทบัญญัติรับรองให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน อาทิ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยต้องไม่เหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ส่วนที่ 2 กลไกการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กำหนดให้มีกลไก 2 ระดับ ประกอบด้วย 1.กลไกระดับนโยบาย กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน โดยมีผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เป็นกรรมการและเลขานุการ และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) รับผิดชอบงานวิชาการและธุรการของคณะกรรมการ และ 2.กลไกระดับปฏิบัติการ กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง
ส่วนที่ 3 การจัดตั้งสภากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นกลไกการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนเป็นศูนย์ประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจอันดี และเสนอนโยบาย มาตรการคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่อคณะกรรมการ
ส่วนที่ 4 การจัดทำฐานข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ กำหนดให้มีการจัดทำฐานข้อมูลกลางของประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญประกอบการกำหนดนโยบาย การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในการรับรองสถานะบุคคล สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการดำเนินกิจการของรัฐที่อาจกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์
ส่วนที่ 5 การจัดตั้งเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ บัญญัติให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่คุ้มครองฯ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน และการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์
ส่วนที่ 6 บทกำหนดโทษ เมื่อการคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ตามหมวด 1 ได้มีการระบุห้ามมิให้การกระทำการใด ๆ อันเป็นการเหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ตลอดจนห้ามมิให้บังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องผสมกลมกลืนทางศาสนา วัฒนธรรม หรือทำลายวัฒนธรรมของตนไว้ จึงต้องมีการกำหนดบทลงโทษกรณีมีผู้ละเมิดดัง ทั้งนี้คาดว่า จะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า