วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2567 เวลา 11.35 นาฬิกา ณจุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะ กมธ.การแรงงาน และคณะ รับยื่นหนังสือจากนายทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) นายอัครวุธ ไกรศรีสมบัติ ประธานกลุ่มอาชีวะราชภักดี (เต้ อาชีวะราชภักดี) และนายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เพื่อร้องทุกข์ 6 ประเด็นปัญหาที่เกิดจากแรงงานต่างด้าว ดังนี้
1. ปัญหาที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายกระทำการให้ประเทศไทยเสื่อมเสียชื่อเสียง
2. ปัญหาที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวร่วมกันก่อการเข้าลักษณะอาชญากรรมภายในราชอาณาจักรไทย
3. ปัญหาที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หรือบุคคลไร้สัญชาติ ร่วมกันก่อเหตุกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไทย กระทบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ
4. ปัญหาด้านกองทุนประกันสังคมจะขาดสภาพคล่อง และเสี่ยงต่อการล้มละลาย ส่วนหนึ่งจากสาเหตุที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานดึงแรงงานต่างด้าวเข้าร่วมรับสิทธิประกันสังคมทั้งที่หน่วยงานประกันสังคมยังไม่มีความสามารถพอที่จะดูแลประชาชนชาวไทยได้อย่างครอบคลุม
5. ปัญหาจากที่กระทรวงแรงงานดำเนินมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 24 ม.ค. 60 ส่งผลให้เอื้อต่อการให้บุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายใช้ช่องทางพิเศษนี้เพื่อได้มาซึ่งสิทธิในการอาศัยอยู่ในประเทศไทย
6. ปัญหาจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายกระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภัยความมั่นคงทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ภัยต่อความสงบสุขของสังคม หรือศีลธรรม ความประพฤติดีงามทางกาย วาจา ความประพฤติที่ดีที่ชอบ ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีวะจริยธรรม ของการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย
ทั้งนี้ เพื่อการปกป้องไว้ซึ่งอำนาจของอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย ปกป้องไว้ซึ่งความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ความมั่นคงด้านความปลอดภัยสาธารณะของประชาชนชาวไทย ปกป้องไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ ปกป้องไว้ซึ่งรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อมิให้ประชาชนและองค์กรของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานย่อยภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ ต้องขัดหรือเห็นแย้งกันจนถึงขั้นบานปลายสุ่มเสี่ยงต่อความไม่สงบสุขของประชาชน วันนี้จึงมายื่นคำร้องทุกข์เพื่อให้ทางคณะ กมธ.พิจารณาดำเนินการสอบสวนศึกษาเรื่องดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะ กมธ. การแรงงาน กล่าวว่า 6 ประเด็นที่ทางภาคประชาชนได้เสนอมา กมธ. แรงงานได้ดำเนินการหลายครั้งแล้ว และ กมธ.ได้เชิญสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และเกือบทุกส่วนมาสอบถามในเรื่องสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องแรงงานข้ามชาติ โดยเน้นไปที่ประเทศเมียนมาตามที่ปรากฎเป็นข่าว ทั้งนี้ ได้รับการยืนยันจากกระทรวงการต่างประเทศว่าเป็น Fake News ซึ่งตนและ กมธ. มองว่าแม้จะเป็น Fake News หรือไม่ก็ตาม แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็มีความจริงผสมและสอดคล้องว่ามีอยู่จริง จะประมาทไม่ได้ คณะกมธ. แรงงานจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมให้เร็วที่สุดและจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารืออีกครั้งเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงในต่างมุมมองตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ละคนได้ข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน ต้องยอมรับว่าในภาคอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจในเอเชีย เช่น จีนที่เข้ามาซื้อโรงแรมที่ จ.ภูเก็ต จ.พังงา จ.กระบี่ หรือกลุ่มที่มาลงทุนธุรกิจโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรม จ. ปราจีนบุรี และ จ.ระยอง ล้วนแต่มีอะไรที่ต้องมาคิดทบทวน มีการนำเครื่องจักร เทคนิคและนวัตกรรมมาใช้ตามกระแสโลกาภิวัฒน์ มีกฎหมายการประกอบอาชีพต่าง ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ในเรื่องของการไหลวิชาชีพ เราก็พยายามที่จะให้รัฐบาลทบทวน เรื่องการคุ้มครอง 40 อาชีพ ที่ประเทศไทยต้องสงวนไว้ให้คนไทย และอาจจะต้องเพิ่มอาชีพใหม่ที่มีความจำเป็นโดยไม่ขัดต่อหลักกฎหมายสากล ในขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาเพื่อยกระดับแรงงานไทย ฟื้นฟูการเพิ่มทักษะอาชีพ แต่ในทางปฏิบัติทำได้น้อยมาก ประเทศมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย อินเดีย ต่างหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายไทยยังตามไม่ทัน กมธ. จึงเร่งรัดพัฒนากฎหมาย ยกร่างกฎหมายแรงงานใหม่ ทุกกระทรวงทุกภาคส่วนต้องร่วมกันโดยต้องนำข้อเท็จจริงเปิดออกมาเพื่อให้ประชาชนได้รู้ และทุกคนจะต้องเตรียมการ เรื่องแรงงานข้ามชาติ การไหลของอาชีพ ถือเป็นภัยสงครามรูปแบบใหม่ ที่ส่งผลต่อความมั่นคงของพี่น้องประชาชน กมธ.เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะเป็นตัวเชื่อมในการประสานงานเพื่อให้ฝ่ายบริหารรับรู้ประเด็นและหาวิธีแก้ไข ในขณะเดียวกันเสนอกฎหมายเข้าไปด้วยในนาม กมธ. วันนี้เราจะต้องสร้างงานใหม่เพื่อให้คนไทยมีศักดิ์ศรี มีคุณค่า มีรายได้ในการเลี้ยงชีพและเลี้ยงครอบครัว และยืนบนขาตัวเอง