วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2567 เวลา 10.30 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 207 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ให้การรับรอง นายมาทีอัส คอร์มันน์ (H.E. Mr. Mathias Cormann) เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) และคณะ โดยมี นายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองประธานคณะ กมธ.การต่างประเทศ คนที่สาม นายศุภโชค ศรีสุขจร และนายชลัฐ รัชกิจประการ โฆษกคณะ กมธ.การต่างประเทศ นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ น.ส.รุจิกร แสงจันทร์ รักษาการอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมให้การรับรอง
นายมาทีอัส คอร์มันน์ (H.E. Mr. Mathias Cormann) เลขาธิการ OECD เข้าเยี่ยมคารวะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง และหารือกับคณะ กมธ.การต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย และบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD ในโอกาสเดินทางเยือนไทย ระหว่างวันที่ 29 - 31 ต.ค. 67 ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นการเยือนประเทศไทยครั้งแรกในภารกิจความร่วมมือระหว่าง OECD กับไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงภาพรวมเกี่ยวกับ OECD และการเข้าเป็นสมาชิกของไทย โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 OECD ได้เห็นชอบต่อร่างแผนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย สำหรับกระบวนการการเข้าเป็นสมาชิกคาดว่าจะใช้เวลาทั้งสิ้น 5 – 7 ปี และต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสองฝ่าย ปัจจุบัน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประเทศอินโดนีเซียและไทยที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก ซึ่ง OECD ยินดีสนับสนุนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของไทย อย่างไรก็ตาม ในการปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD ตลอดจนการให้ความเห็นชอบในการเข้าเป็นสมาชิก OECD จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาไทยในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ
ในการนี้ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ได้แสดงความยินดีที่ OECD มาเยือนรัฐสภา โดยรัฐสภายินดีขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งให้การสนับสนุนหากมีการเสนอเรื่องเกี่ยวกับการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD มาให้รัฐสภาพิจารณา ถึงแม้ว่ารัฐสภาจะประกอบด้วยพรรคการเมืองที่หลากหลาย แต่ก็มิได้ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพราะเชื่อมั่นว่าทุกพรรคการเมืองมุ่งหวังที่จะเห็นการพัฒนาของประเทศเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ เลขาธิการ OECD ยังได้เสนอให้มีการทำงานกันอย่างใกล้ชิดของทั้งสองฝ่าย โดยอาจมีการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพฯ ระหว่างกันขึ้น (Friends of OECD) เพื่อเป็นกลไกในการทำงานกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว และจะพิจารณาในโอกาสต่อไป โดยหาก OECD ต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มเติม คณะ กมธ.การต่างประเทศยินดีให้การสนับสนุน ทั้งนี้ จากการที่ OECD มีความร่วมมือกับนานาประเทศ หากรัฐสภาประสงค์ที่จะศึกษาเรียนรู้การทำงานของ OECD สามารถเดินทางไปเยือนสำนักงานเลขาธิการ OECD ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสได้
เครดิตข่าวโดย : กลุ่มงานข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร