สส. พรรคเพื่อไทย แถลงข่าว กรณี MOU 44 (บันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา) เกี่ยวกับกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ว่า ไทยไม่ได้ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลที่ลากโดยกัมพูชาและยังยึดถือว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทยมาโดยตลอด
1 พฤศจิกายน 2567
วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายนพดล ปัทมะ สส. พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าว กรณี กรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หรือ MOU 44 พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ที่ประชาชนสนใจอยู่ในขณะนี้ โดยไทยยังยึดถือว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย ซึ่ง MOU 44 ไม่ได้ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลที่ลากโดยกัมพูชา พร้อมยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาตลอด ขอให้ประชาชนเข้าใจในความจริง สำหรับกระแสข่าวในสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ที่บิดเบือนว่าไทยจะเสียเกาะกูด และ MOU 44 อาจนำไปสู่การเสียเกาะกูดนั้น ข้อเท็จจริงคือเกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสมานานแล้ว และไม่มีใครสามารถยกเกาะกูดให้กัมพูชาได้ จึงขอเรียกร้องให้เลิกปลุกกระแสไทยเสียเกาะกูดในขณะนี้ รัฐบาลนี้รักประเทศชาติ ไม่มีใครจะทำให้ไทยเสียดินแดน สำหรับ MOU 44 ซึ่งการลงนามโดยนายสุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเกาะกูด เป็นกรอบในการเจรจาเรื่องพื้นที่ทางทะเลและพื้นที่พัฒนาร่วม เนื่องจากทั้งไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน สองประเทศเลือกวิธีเจรจาทางการทูต จึงเป็นที่มาของ MOU 44 เพื่อวางกรอบในการเจรจา บนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้น มีการระบุชัดเจนว่าเนื้อหาของ MOU 44 และการเจรจาจะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา อีกทั้งกลไกการเจรจานั้นจะต้องกระทำโดยคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) เจทีซี ที่มีผู้มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย ด้านดินแดน และด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อมีการเจรจากันแล้วก่อนการลงนามต้องนำมารายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสส.ทุกพรรคการเมืองสามารถช่วยวิเคราะห์ ถึงข้อดีข้อเสียได้ จึงขอเรียกร้องผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองอย่านำเรื่องดินแดนมาบิดเบือนใส่ร้ายรัฐบาล เหมือนเช่นที่ตนเคยถูกกระทำมาในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เคยถูกใส่ร้ายว่าเป็นคนยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา ซึ่งความจริงแล้วการที่ไทยต้องยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชานั้นทำตามคำตัดสินของศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 ที่มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น การใส่ร้ายว่าตนยกเขาพระวิหารให้กัมพูชาจึงเป็นความเท็จโดยสิ้นเชิง ซึ่ง ศาลฎีกาก็ได้พิพากษายกฟ้องตนและได้ระบุว่าสิ่งที่ตนทำถูกต้องแล้วและเป็นประโยชน์ ต่อประเทศ