คณะ กมธ. การที่ดิน แถลงข่าว ขอให้รัฐบาลบาลชะลอการอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ
13 พฤศจิกายน 2567
วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะ กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ แถลงข่าว กรณีร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และการดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 พ.ศ... และร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และการดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 พ.ศ… ในที่ประชุม ครม. ได้มีการอนุมัติเมื่อวานนี้ (12 พ.ย. 67) พรรคประชาชน โดย คณะกมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการออก พ.ร.ฎ. ดังกล่าว ว่ามีปัญหาทั้งในแง่กระบวนการและแง่เนื้อหา อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิในที่ดินของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งที่มาของการออก พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ ในเวลานั้นอ้างว่าจะเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้า จากในอดีตที่หากประชาชนอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมด กฎหมายฉบับใหม่จะอนุญาตให้อยู่อาศัยได้โดยไม่ผิดกฎหมาย โดยมาตรา 64 ใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 บัญญัติให้กำหนดรายละเอียดเรื่องนี้เป็นโครงการในกฎหมายลูก จึงนำมาสู่การร่าง พ.ร.ฎ. โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช .อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาร่าง พ.ร.ฎ. นี้ ได้รับการคัดค้านจากภาคประชาชนมาโดยตลอด โดยมีข้อกังวลแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ
1. ข้อกังวลในแง่กระบวนการ มี 3 ปัญหาหลัก คือ
1.1 ปัญหาการขาดความชอบธรรมทางการเมือง เนื่องจาก พ.ร.ฎ. ฉบับนี้เป็นกฎหมายลำดับรองของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน เนื้อหาในกฎหมายไม่อาจแก้ปัญหาป่าทับคน-คนทับป่าได้
1.2 ปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.ฎ. คือประชาชนที่อาศัยในเขตป่า แต่กรมอุทยานฯ เปิดรับฟังความเห็นในวงจำกัด ทำให้ประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่สามารถเข้าถึง รับรู้ข้อมูล หรือแสดงความเห็นได้อย่างเพียงพอ
1.3 ปัญหาการขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลเร่งรัดจะออก พ.ร.ฎ. ทั้งที่รายละเอียดของแผนที่แนบท้ายไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด อาจขัดต่อมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 และ มาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ที่ต่างบัญญัติว่าต้องจัดให้มีแผนที่แสดงแนวเขตโครงการที่จะดำเนินการแนบท้ายไว้ เพื่อให้ทราบว่าการใช้บังคับกฎหมายในเรื่องนั้นครอบคลุมบริเวณพื้นที่ส่วนใดบ้าง
2. ข้อกังวลในแง่เนื้อหา ถือเป็นการออกกฎหมายที่มุ่งจำกัดสิทธิของประชาชน ไม่ใช่คุ้มครองสิทธิของประชาชน เป็นการ “อนุญาต” ไม่ใช่การ “ให้สิทธิ”
2.1 วัตถุประสงค์ตามร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดว่าเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้อยู่อาศัยหรือทำกินเป็นการชั่วคราว ซึ่งไม่สอดคล้องข้อเท็จจริง เพราะประชาชนในหลายพื้นที่อาศัยมาก่อนการประกาศเป็นป่าอนุรักษ์และมีการตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างถาวร
2.2 ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดระยะเวลาในการอนุญาตอยู่อาศัย 20 ปี โดยไม่ได้บัญญัติว่าจะมีการอนุญาตต่อได้หรือไม่ด้วยเงื่อนไขอะไร หากยึดถือตามกฎหมายฉบับนี้คือในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชาชน 4,042 ชุมชนและพื้นที่ 4.2 ล้านไร่ จะต้องส่งคืนกรมอุทยานฯ ทั้งหมด
2.3 ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดเนื้อที่ในการอนุญาต ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครอบครัว ส่วนที่เกินต้องส่งมอบแก่กรมอุทยานฯ เพื่อนำไปฟื้นฟูเป็นป่า แม้การกำหนดเพดานจำนวนการถือครองที่ดินเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ต้องไม่มีเจตนาเพื่อยึดที่ดินที่ประชาชนใช้ดำรงชีพตามวิถีชีวิตปกติของคนในชุมชนท้องถิ่น และการกำหนดมาตรการใดๆ จะต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม
2.4 ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดคุณสมบัติหลายประการที่จำกัดสิทธิประชาชน เช่น
2.4.1 ผู้มีคุณสมบัติที่จะอยู่อาศัย ต้องไม่มีที่ดินอื่นนอกเขตโครงการ เงื่อนไขนี้ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ มาก่อนหน่วยงานรัฐประกาศเป็นเขตป่า ต้องสูญเสียที่ดินซึ่งครอบครัวหรือบรรพบุรุษได้ทำมาหากินมานานแล้ว
2.4.2 ผู้มีคุณสมบัติที่จะอยู่อาศัย ต้องไม่เคยกระทำความผิดในเขตป่าอนุรักษ์ เงื่อนไขนี้จะส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากที่เคยถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมในยุครัฐบาล คสช. จากปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ต้องสูญเสียสิทธิ
2.4.3 พี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ จะถูกตัดสิทธิการอยู่อาศัยทำกินในเขตป่าอนุรักษ์
จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการออกกฎหมายนี้ไปก่อน โดยพรรคประชาชนขอเป็นผู้ประสานพรรคการเมืองต่าง ๆ ร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันเสนอแก้ไขมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 เพื่อยกระดับสิทธิชุมชน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาป่าทับคน-คนทับป่าได้อย่างแท้จริง รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้ง เชิญชวนประชาชนทั่วประเทศที่ประสบกับปัญหาดังกล่าว แจ้งมายังคณะ กมธ.การที่ดิน เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาให้ตรงตามความต้องการของประชาชนต่อไป