คณะ กมธ.การที่ดิน รับยื่นหนังสือจากทนาย กรณีที่ดิน "เขากระโดง" อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
14 พฤศจิกายน 2567
วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เวลา 15.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทิดสกุล เลขานุการคณะ กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับยื่นหนังสือจากนายภัทรพงศ์ ศุภักษร ทนายความ เรื่อง ขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กรรมาธิการ ในการพิจารณาให้มีผลบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล อันคดีถึงที่สุด กรณีที่ดิน "เขากระโดง" อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
จากกรณี ข้อพิพาทที่ดิน "เขากระโดง" อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ที่ประชาชนให้ความสนใจ และติดตามการดำเนินการของทางภาครัฐ มาโดยตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ที่ผ่านมา ว่าเพื่อให้มีผลบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร และล่าสุด ได้มีมติของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งของอธิบกรมที่ดิน ที่ 1195 - 1196/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค. 66 ในคดีพิพาทกรณี ที่ดินแยก "เขากระโดง" จ.บุรีรัมย์ ซึ่งทางคณะกรรมการได้มีความเห็นในทำนองว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ได้เป็นที่ยุติว่า เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งขอบเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนปรากฏว่า การออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในท้องที่ ต.เสม็ด ต.อีสาน อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จึงยังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อธิบดีกรมที่ดินจึงเห็นควรยุติในเรื่องดังกล่าว แต่อย่างไรตาม หากการรถไฟแห่งประเทศไทย เห็นว่ามีสิทธิ์ในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิ์ในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป
ทั้งนี้ จากท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อกรณีดังกล่าว ที่มีการเผยแพร่จากสื่อสารมวลชน ทำนองว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยจะนำประเด็นข้อพิพาทไปสู่ศาลปกครอง "อีกครั้ง" ซึ่งเห็นว่า กรณีอาจเป็นเพียงการ "ยื้อเวลา เพื่อรักษาสมดุลไทยทางการเมือง" เท่านั้น เพราะที่ดินแยกเขากระโดง มีบุคคลผู้มีส่วนได้เสียทางการเมือง เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและมีภูมิลำเนาอยู่ในเขากระโดงด้วย
ดังนั้น อาจมองได้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม และกรมที่ดิน ซึ่งอยู่ภายใด้กำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย อาจไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้มีผลเป็นไปเพื่อการบังคับหรือถอนผู้บุกรุกในที่ดินดังกล่าว และย่อมไม่เป็นการปกปักรักษาทรัพยากรของชาติหรือเรียกคืนทรัพยากรของชาติกลับคืนแผ่นดิน หากแต่อาจเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนที่อาศัยอยู่ในที่พิพาทท ดังกล่าว จึงขอให้คณะกมธ. ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทำการรักษาทรัพยากรของชาติ การฟ้องผู้ที่บุกรุกอาศัยในที่ดินดังกล่าว เป็นคดีฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ต่อไป
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะ กมธ.ต่อไป