รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เปิดโครงการกิจกรรมโต้วาทีสร้างสรรค์สังคม "สภาวาที" เปิดโอกาสให้เยาวชนมีพื้นที่ในการแสดงออกถึงทัศนคติในเชิงสร้างสรรค์ และใช้ทักษะการพูดหรืออภิปรายด้วยเหตุผลและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และสร้างการมีส่วนร่วมให้กับสังคม
17 ธันวาคม 2567
วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการกิจกรรมโต้วาทีสร้างสรรค์สังคม "สภาวาที" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กล่าวรายงานโดย นางจงเดือน สุทธิรัตน์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายประเสริฐ บุญเรือง ประธานคณะ กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ น.ส.จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ พร้อมด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย อาจารย์สมชาย หนองฮี น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา อาจารย์บุญมา ศรีหมาด และ น.ส.สายสวรรค์ ขยันยิ่ง ตลอดจนผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คณาจารย์ และนักเรียน นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ร่วมพิธี
โอกาสนี้ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง กล่าวว่า ขอต้อนรับทุกท่านที่ได้เดินมาร่วมโครงการกิจกรรมโต้วาทีในวันนี้และผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านทางออนไลน์ โดยโครงการดังกล่าว เกิดจากดำริของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องการเห็นสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาเป็นสภาของประชาชน จึงทำให้เกิดโครงการต่าง ๆ มากมายที่ต้องการเห็นประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา ทั้งในเชิงของข้อมูลข่าวสารและในเชิงของทรัพยากรต่าง ๆ ของสภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภา เราจะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางเว็บไซต์และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ ได้ ในส่วนของทรัพยากรที่เป็นตัวอาคารสถานที่นั้น เราพยายามเปิดสภาให้พี่น้องประชาชนเข้ามาใช้บริการในทุกรูปแบบมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้จัดโครงการวันรัฐธรรมนูญขึ้น ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเปิดพื้นที่ของสภา ทั้งพื้นที่ที่ไม่เคยเปิดให้กับสาธารณะมาก่อนคือ เครื่องยอดอาคารรัฐสภา ชั้น 11 และโถงพิธี รวมทั้งพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำที่เราได้พยายามเปิดพื้นที่ในเชิงกายภาพ นอกจากนั้น ยังมีพื้นที่ทางช่องทางของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในการออนแอร์ซึ่งก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราพยายามเพิ่มสัดส่วนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนให้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐสภามากขึ้น และในช่วงเวลาออนแอร์ของสถานีฯ เราพยายามเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้มีโอกาสมาใช้เวลาของสถานีในการแสดงออกและสร้างการมีส่วนร่วมให้กับสังคม จึงได้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา โดยแรกเริ่มนั้นได้มีการปรึกษาหารือกับข้าราชการของสำนักงานฯ และได้มีโอกาสหารือกับผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า สภาวาทีหรือการโต้วาทีนั้น เมื่อสมัยก่อน เรามีรายการเกี่ยวกับการโต้วาทีที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้นคือ รายการโต้คารมมัธยมศึกษา ซึ่งอาจารย์หลายท่านที่มาร่วมงานในวันนี้ก็เป็นวิทยากรในขณะนั้น ทั้งนี้ ช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลังจากที่พวกเราเติบโตขึ้นมา เราไม่มีเวทีให้น้อง ๆ เยาวชนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีเวทีให้เยาวชนได้แสดงออกทางความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา จึงทำให้เยาวชนใช้เวทีหรือช่องทางอื่นซึ่งเราเห็นว่าเมื่อสภาตั้งใจที่จะเปิดเวที เปิดพื้นที่ของสภาให้กับพี่น้องประชาชนจึงใช้โครงการนี้เป็นสื่อ และเปิดโอกาสให้น้อง ๆ จากทั่วประเทศได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ การเลือกกิจกรรมการโต้วาทีนั้นเพราะเชื่อว่าการโต้วาทีนี้จะสามารถสร้างคนได้ ซึ่งมีผู้มีชื่อเสียง นักพูดที่มีชื่อเสียง และนักการเมืองชื่อดังในวันนี้ก็ได้ผ่านเวทีการโต้วาทีมาแล้วทั้งสิ้น เวทีการโต้วาทีสอนให้คนได้รู้จักคิด ซึ่งตนได้มีโอกาสดูคลิปของน้อง ๆ หลายคน โดยก่อนที่จะมีเนื้อหาสาระมาโต้วาทีได้ก็จะต้องเกิดจากกระบวนการคิด การศึกษาหาข้อมูลให้ตกผลึก จึงจะมากลั่นกรองและสามารถโต้วาทีในประเด็นที่ลึกซึ้งได้ นอกจากนี้ ยังให้พวกเราได้คิดเพื่อหาประเด็นมาโต้แย้ง หาประเด็นที่สำคัญมานำเสนอ ทั้งยังเป็นการฝึกปฏิภาณไหวพริบในการหามุมที่จะมาโต้แย้งให้ชนะอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่จัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยแรกเริ่มนั้นไม่ได้คิดว่าจะได้รับความสนใจจากน้อง ๆ มากขนาดนี้เพราะช่วงเวลาที่เปิดรับสมัครเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น และยังเป็นโครงการในปีแรก จึงตั้งใจว่าจะเปิดแนวทางไว้สำหรับในปีงบประมาณถัดไป และจะทำโครงการให้ต่อเนื่องและยิ่งใหญ่มากขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องขอขอบคุณคณะอาจารย์ที่ได้ให้ความสำคัญและให้ความสนใจ ขอชื่นชมน้อง ๆ ที่เดินทางมาจากจังหวัดต่าง ๆ ทั้งนครศรีธรรมราช เลย ขอนแก่น และเชียงใหม่ และขอขอบคุณเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ ที่ได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือโครงการนี้อย่างเต็มที่ รวมถึงขอขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่กรุณาสละเวลาและได้ให้คำมั่นว่าในอนาคตหากมีโครงการต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป ก็พร้อมที่จะสนับสนุนและพร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ และขอบคุณคณะกรรมการทุกท่านที่กรุณาคิดโครงการดี ๆ ให้เกิดขึ้นและเปิดพื้นที่จริงของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาให้เยาวชน ให้พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสมาร่วม มาแชร์ และมาใช้พื้นที่สภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา ทำให้สภาเป็นสภาของประชาชนอย่างแท้จริง
จากนั้น น.ส.จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ มอบทุนสนับสนุนโครงการกิจกรรมโต้วาทีสร้างสรรค์สังคม โดยมี นางสุพรรณี ชีวะไทย ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา เป็นผู้แทนรับมอบ
ทั้งนี้ สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา มีนโยบายและวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข่าวสาร สาระความรู้ด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความรู้ด้านนิติบัญญัติ และกิจกรรมของรัฐสภา ผ่านรายการวิทยุและรายการโทรทัศน์ มุ่งผลิตรายการที่มีคุณภาพตอบสนองความต้องการของประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐสภากับประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมและเวทีสาธารณะให้ภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมทางการเมือง ผ่านช่องทางสื่อของฝ่ายนิติบัญญัติ สอดคล้องกับดำริของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของกิจกรรม "การโต้วาที" ที่มีคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาเยาวชนให้ได้แสดงออกถึงศักยภาพ ทั้งในด้านการคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผล การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการพูดเชิงสร้างสรรค์และใช้วาทศิลป์ที่สร้างความประทับใจ และฝึกการทำงานเป็นทีม สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา จึงได้ร่วมกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จัดโครงการกิจกรรมโต้วาทีสร้างสรรค์สังคม "สภาวาที" ขึ้น เพื่อเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ ได้แสดงออกถึงทัศนคติในเชิงสร้างสรรค์ และใช้ทักษะการพูดหรืออภิปรายด้วยเหตุผลและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ พร้อมทั้งมีการผลิตรายการโต้วาทีที่สร้างสรรค์สังคม เพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางหลักและช่องทางสื่อใหม่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาอันเป็นการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2567 ปรากฏว่า มีทีมที่สนใจส่งใบสมัครและผลงานคลิปวิดีโอการโต้วาทีในญัตติ "การศึกษาออนไลน์ดีกว่าการศึกษาออนไซต์" เข้าร่วมแข่งขันโต้วาที 86 ทีม จากสถานศึกษาทุกภูมิภาค รวมถึงสถานศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งคณะกรรมการได้คัดเลือกทีมที่ผ่านการกลั่นกรองเพื่อเข้ารอบ 16 ทีม ที่จะมาแข่งขัน ณ รัฐสภา ในเดือนมกราคม 2568 สำหรับการจัดโครงการกิจกรรมโต้วาทีฯ ดังกล่าว นอกจากจะมีการจับญัตติการแข่งขันโต้วาทีแล้ว ยังมีการเสวนาในหลายหัวข้อ อาทิ หัวข้อ "เทคนิคการพูดในที่สาธารณะ" หัวข้อ "เทคนิคการโต้วาที" และหัวข้อ "เกณฑ์การตัดสินและการให้คะแนนการโต้วาที" โดยมีอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีประสบการณ์เคยเป็นนักโต้วาที และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพูดที่มีชื่อเสียงที่ให้เกียรติเป็นคณะกรรมการตัดสิน มาร่วมถ่ายทอดความรู้ให้กับน้อง ๆ นักเรียนจาก 16 ทีม ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ของสถานีฯ ด้วย