สส.พรรคประชาชน ยื่นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 3 ฉบับ ต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
18 ธันวาคม 2567
วันพุธที่ 18 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายให้ นางนงทิพา ของสิริวัฒนกุล ผู้บังคับบัญชากลุ่มงาน พ.ร.บ. และญัตติ 1 สำนักการประชุม รับยื่นร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน จำนวน 3 ฉบับ จาก นายเซีย จำปาทอง น.ส.วรรณวิภา ไม้สน นายจรัส คุ้มไข่น้ำ สส.พรรคประชาชน และประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานทั้ง 3 ฉบับ ในฐานะผู้ตระหนักถึงคุณค่าของผู้ใช้แรงงานและความสำคัญของการสร้างสังคมที่เป็นธรรม อีกทั้งในฐานะตัวแทนจากกลุ่มสหภาพแรงงานและกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อคนทำงาน ขอประกาศจุดยืนอย่างหนักแน่นในการสนับสนุนร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานทั้ง 3 ฉบับ ของพรรคประชาชน ตามที่พรรคประชาชนได้ยื่นแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานทั้งประเทศ ซึ่งคนทำงาน หรือ ผู้ใช้แรงงาน คือหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศให้เติบโต แต่คนทำงานจำนวนมากต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรม การถูกเอารัดเอาเปรียบ และขาดการคุ้มครองที่เหมาะสมและเป็นธรรม จึงเห็นว่าควรมีกฎหมายที่เข้มแข็ง และครอบคลุม ปกป้องสิทธิแรงงาน สร้างหลักประกันในการทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ โดยร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานของพรรคประชาชน ทั้ง 3 ฉบับ มีสาระความสำคัญ คือ หลักการกำหนดมาตรฐานการจ้างที่เป็นธรรมและการสนับสนุนสวัสดิการคุ้มครองคนทำงานที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ได้แก่
1. การเพิ่มคำนิยาม "นายจ้างและลูกจ้าง" ให้ร่วมถึงนายจ้าง ลูกจ้าง ตามสัญญาจ้างทำของ หรือ สัญญาอื่น ๆ ซึ่งทำงานเพื่อรับค่าจ้างด้วย
2. เปลี่ยนลูกจ้างรายวัน ให้เป็นรายเดือนทั้งหมด
3. เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ เงินเฟ้อ
4. ลูกจ้างต้องทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน (ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง)
5. ลูกจ้างต้องมีวันหยุดประจำสัปดาห์ละ 2 วัน (ทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน)
6. เพิ่มวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็น 10 วันต่อปี
7. นายจ้างต้องไม่เลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างใด ๆ ของลูกจ้าง ตั้งแต่การสมัครงาน
8. ลูกจ้างมีสิทธิลาไปดูแลคนสำคัญในครอบครัว ปีละไม่เกิน 15 วันทำงาน
9. ต้องมีห้องสำหรับลูกจ้างให้นมบุตร หรือเก็บนมในสถานที่ทำงาน และลูกจ้างมีสิทธิดังกล่าว วันละ 2 ครั้ง ๆ ละ 30 นาทีในเวลาทำงาน
10. ลูกจ้างมีสิทธิลาเนื่องจากมีประจำเดือนได้ 3 วัน ต่อ 1 เดือน โดยวันลาเนื่องจากเป็นประจำเดือน ไม่ถือเป็นวันลาป่วย
ทั้งนี้ หากร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาก็จะเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน จึงขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคร่วมสนับสนุนร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทั้ง 3 ฉบับนี้ เพื่ออนาดตที่ดีกว่า
ผู้บังคับบัญชากลุ่มงาน พ.ร.บ.ฯ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ขอรับร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ ไปดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการนิติบัญญัติ และตามกฎหมาย และจะนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป