นายชวาล พลเมืองดี โฆษกคณะ กมธ.การอุตสาหกรรม และคณะ แถลงข่าวผลการประชุมคณะ กมธ.
4 มกราคม 2567
วันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม 2567 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายชวาล พลเมืองดี โฆษกคณะ กมธ.การอุตสาหกรรม และคณะ แถลงข่าวผลการประชุมคณะ กมธ. เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 67 เพื่อพิจารณาปัญหาการลักลอบทิ้งและฝังกลบกากอุตสาหกรรมและวัตถุอันตรายในพื้นที่ อ.พานทอง และ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาให้ข้อมูลต่อคณะ กมธ. ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเก่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และตัวแทนประชาชนผู้ร้องเรียน
โดยปัญหาการนำกากอุตสาหกรรมหรือวัตถุอันตรายลักลอบเข้ามาทิ้งโดยวิธีการฝังกลบหรือซุกซ่อนในที่ดินซึ่งเป็นแหล่งชุมชน ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ทั้งปัญหาสุขภาพของประชาชน ปัญหาการใช้ที่ดินที่ปนเปื้อนวัตถุอันตราย และปัญหากลิ่นเหม็นอันเนื่องมาจากการฝังกลบวัตถุอันตราย ซึ่งประชาชนในพื้นที่ประสบกับปัญหาดังกล่าวมาเป็นเวลานาน จึงต้องการให้คณะ กมธ. ช่วยเหลือและผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกำจัดวัตถุอันตรายดังกล่าวให้หมดสิ้นไปจากพื้นที่ อีกทั้งยังขอให้คณะ กมธ. ช่วยเหลือและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่กระทบต่อการดำเนินการดังกล่าว โดยในประเด็นปัญหาข้างต้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา ได้ชี้แจงปัญหาและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาว่า มีความต้องการนำเงินงบประมาณมาใช้สำหรับการกำจัดวัตถุอันตราย และให้การเยียวยาแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ จึงจำเป็นต้องขอสนับสนุนงบกลางเพื่อใช้ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยเบื้องต้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการกับภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา โดยจะให้ภาคเอกชนรับเป็นผู้ดำเนินการนำของเสียและวัตถุอันตรายไปเข้าสู่กระบวนการบำบัดของเสีย และจะเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาแนวทางในการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และเร่งดำเนินการนำของเสียวัตถุอันตรายไปบำบัดโดยเร็ว อีกทั้งยังมีมติให้ดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยเพิ่มหมวดที่เกี่ยวข้องกับการตั้งกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลให้หน่วยงานของรัฐมีเงินงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันได้โดยเร็ว และมีมติให้แก้ไขบทกำหนดโทษผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยเพิ่มโทษผู้กระทำความผิด เพื่อให้เกิดความยำเกรงต่อกฎหมายและทำให้เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต