สส.พรรคประชาชน แถลงกรณีการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ
20 มกราคม 2568
วันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2568 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญ สส.พรรคประชาชน แถลงข่าวกรณีการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการฟอกเงิน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนานาประเทศว่า กฎหมายฉบับนี้จะไม่ถูกใช้เป็นช่องทางให้กับกลุ่มทุนสีเทาในการพ่อกเงิน จะขอชี้แจง ข้อสังเกตต่อร่างพระราชฉบับนี้ ใน 3 ประเด็น ดังนี้
1. ขาดมาตรการป้องกันการฟอกเงินที่ชัดเจนแม้ร่าง พ.ร.บ. นี้จะมีการแต่งตั้งเลขาธิการ ปปง. ให้ร่วมเป็นคณะกรรมการนโยบาย แต่กลับไม่มีบทบัญญัติใดที่ระบุถึงอำนาจหน้าที่ของ ปปง. ในการตรวจสอบหรือกำกับดูแลธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกาสิโนอย่างชัดเจน ทั้งที่กิจกรรมการพนันเป็นความผิดมูลฐานของการฟอกเงิน หากไม่ได้รับการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด อาจกลายเป็นช่องทางให้กลุ่มทุนผิดกฎหมายใช้ประโยชน์
2. คณะทำงานขาดความเชี่ยวชาญ คำสั่งของคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ตามมติคณะรัฐมนตรีคือวันที่ 4 มิถุนายน 2567 จากองค์ประกอบของคณะทำงานยกร่างกฎหมาย ซึ่งมีทั้งสิ้น 11 คน ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการฟอกเงินหรือการจัดการผลกระทบทางสังคมแม้แต่คนเดียว นี่คือความล้มเหลวในการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง แล้วประชาชนจะสามารถเชื่อมั่นในกฎหมายฉบับนี้ได้อย่างไร
3. การพึ่งพาผู้ประกอบการระดับโลกโดยไม่มีการกำกับที่เพียงพอกรณี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นรองประธารคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร จากแหล่งข่าวให้สัมภาษณ์ ระบุเพียงว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องมีมาตรฐานระดับโลก และมาตรการป้องกันการฟอกเงินจะเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการเหล่านั้น แต่การที่รัฐบาลมอบความไว้วางใจให้กับเอกชนโดยไม่มีการกำกับดูแลจากกาภาครัฐอย่างชัดเจน อาจถือเป็นการละเลยอำนาจหน้าที่ของรัฐ จึงขอฝากถึงรัฐบาลว่า การทำ Entertainment Complex และกาสิโนควรทำให้รัดกุม รอบด้าน ไม่ให้เป็นแหล่งฟอกเงินของมิจฉาชีพ ถึงแม้จะมีเลขาธิการ ปปง.เป็นคณะทำงาน แต่ก็ไม่มีกลไกให้เลขาธิการ ปปง. ไปใช้อำนาจตามกฎหมายฟอกเงินได้ และจะมีเขียนกฎหมายให้ ปปง. เข้ามามีส่วนร่วมในส่วนนี้หรือไม่ เพราะความผิดของการพนัน เป็นความผิดมูลฐานของการฟอกเงินอยู่แล้ว แต่ต้องเป็นการพนันที่ไม่ได้รับอนุญาต และไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ พ.ร.บ.สถานบันเทิงคือ การทำให้การพนันถูกกฎหมาย
ดังนั้น ขอเสนอแนะเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายให้รัฐบาลควรสร้างกลไกป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในกฎหมายฉบับนี้ คือ
1. การรายงานธุรกรรมการเงิน ควรเพิ่มบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ. เพื่อกำหนดให้ธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นในกาสิโนต้องมีการรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ และให้หน่วยงานนี้เป็นผู้คัดกรองข้อมูลก่อนส่งต่อให้ ปปง. การรายงานดังกล่าวจะช่วยป้องกันการนำเงินผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบกาสิโนและเพิ่มความโปร่งใส
2. การกำหนดมาตรฐาน KYC และ CDD มาตรการ Know Your Customer (KYC) และ Customer Due Diligence (CDD) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติสากลที่ใช้ในการป้องกันการฟอกเงิน มาตรฐาน KYC ถูกกำหนดโดยหน่วยงานระดับโลกอย่าง Financial Action Task Force (FATF) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้ในการตรวจสอบและยืนยันตัวตนของลูกค้า รวมถึงการประเมินความเสี่ยงในการป้องกันการฟอกเงิน (AML: Ant-Money Laundering) การสนับสนุนการก่อการร้าย (CFT : Counter Financing of Terrorism) และกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ ควรถูกบรรจุไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้ประกอบการกาสิโนต้องตรวจสอบและยืนยันตัวตนของลูกค้า รวมถึงประเมินความเสี่ยงของลูกค้าอย่างรอบด้าน หากรัฐบาลไทยไม่เพิ่มมาตรการไว้ในกฎหมาย จะส่งผลให้กาสิโนในประเทศไม่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้งยังอาจกลายเป็นแหล่งฟอกเงินและที่หลบซ่อนของมิจฉาชีพ อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่รัฐบาลผลักดันจะช่วยแก้ปัญหาหรือเพิ่มปัญหาให้กับประเทศ และไม่สนใจถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคตต่อไป