คณะ กมธ. การเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าว เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในภาคการเกษตร
30 มกราคม 2568
วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2568 เวลา 14.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายศักดินัย นุ่มหนู ประธานคณะ กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าว เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในภาคการเกษตร ซึ่งในวันนี้ (30 ม.ค. 68) คณะ กมธ. ได้ประชุมเพื่อพิจารณาเรื่อง “มาตรการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออกขนาดเล็ก PM2.5 ในภาคการเกษตร” โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว การปศุสัตว์ กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. รัฐบาล ควรดำเนินการดังนี้ ขอให้รัฐบาลดำเนินการนโยบายโดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากราคาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ทั้งนี้ ควรบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และมีการทบทวนมาตรการต่าง ๆ ร่วมกันทั้งระบบ เพื่อให้สามารถป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA) เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของจุดความร้อน (Hotspot) กับการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางป้องกันการเผาในพื้นที่ทางการเกษตรได้อย่างเหมาะสม คณะกมธ. มีเห็นด้วยกับการพัฒนาฐานข้อมูลแสดงจุดคุณภาพอากาศ และการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องวัดอากาศในจุดที่เป็นวิกฤตมลพิษ ตามร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ ....
2. สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรเร่งทบทวนมาตรการลงโทษเกษตรกรที่มีประวัติการเผาในพื้นที่การเกษตร ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง มาตรการบริหารจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในภาคการเกษตร ที่ให้ถือเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร (นับแต่วันที่ 1 มิ.ย. - วันที่ 31 พ.ค. 70) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป และไม่ควรตัดสิทธิเข้ารับความช่วยเหลือในทุกโครงการซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรของเกษตรกรในระยะยาว อีกทั้งควรให้มีการระบุชื่อโครงการ/กิจกรรมการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรของทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะงดเว้นไม่ให้เกษตรกรที่มีประวัติการเผาเข้าร่วมโครงการด้วย และควรเพิ่มนโยบาย มาตรการจูงใจให้เกษตรกรทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการเผาในพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มากกว่าการกำหนดบทลงโทษที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร
3. กรมส่งเสริมการเกษตร ควรดำเนินการขยายพื้นที่การใช้แอปพลิเคชันให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อให้สามารถวางแผนบริหารจัดการการใช้ไฟเผาในพื้นที่ทางการเกษตรแต่ละจังหวัดได้อย่างเหมาะสม
4. กรมวิชาการเกษตร ควรเร่งศึกษาวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการลดการเผาในภาคการเกษตรรวมทั้งการส่งเสริมการผลิตพืชเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งคณะกมธ.เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชในพื้นที่สูงให้เป็นไม้เศรษฐกิจยืนต้น และลดการปลูกถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีความเสี่ยงในการเผาสูง ทั้งนี้ เพื่อคืนผืนป่าและลดการเผาป่าได้อย่างยั่งยืน
5. กรมการข้าว ควรเร่งศึกษาวิจัยการย่อยสลายฟางและตอซังข้าวให้กับเกษตรกรเพื่อลดปริมาณการเผาของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เป็นผลสำเร็จโดยเร็ว
6. กรมปศุสัตว์ ควรประชาสัมพันธ์และส่งเสริมโครงการสนับสนุนเครื่องมือและเทคโนโลยีในการจัดการวัสดุทางการเกษตร อาทิ เครื่องอัดหญ้าแห้งให้เกษตรกรรับทราบ รวมทั้งสามารถขอใช้บริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
7. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย คณะกมธ.เห็นด้วยกับเกี่ยวกับ มาตรการส่งเสริมและกำกับดูแลเพื่อลดการเผาอ้อย การปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการและพฤติกรรมการเผาอ้อย รวมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ข้อเสียของการเผาอ้อย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการผลักดันให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยไม่เผาอ้อยทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว และควรกำหนดมาตรการส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรจากการขายใบและยอดอ้อย เพื่อเป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีแทนการเผาอ้อยไฟไหม้ และให้ประสานกับกรมศุลกากรเพื่อขอขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรศุลกากรนำเข้าเครื่องจักรกลทางการเกษตร สำหรับรถตัดอ้อย เครื่องอัดใบอ้อย และเครื่องกวาดใบอ้อยทุกพิกัดศุลกากร และควรครอบคลุมเครื่องจักรกลขนาดเล็กด้วย ตามประกาศกรมศุลกากร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติพิธีการศุลกากรในการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับเครื่องจักรกลทางการเกษตร
8. กรมควบคุมมลพิษ ควรดำเนินการจัดทำข้อเสนอของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยการกำหนดมาตรการบังคับ จูงใจ และส่งเสริม จำนวน13 ข้อ และควรวิเคราะห์ข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียจากรถยนต์ การเผาป่า หรือภาคการเกษตรในแต่ละจังหวัด เพื่อจะได้ทราบถึงสาเหตุ และสามารถกำหนดมาตรการ/แนวทางแก้ไขให้ถูกต้องและเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่