ประเทศ ญี่ปุ่น
ข่าวประจำวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๗
หมวด การเมือง (รัฐสภา)
ญี่ปุ่นผ่านร่างกฎหมาย “DBS ฉบับญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นระบบในการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมทางเพศกับผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก[1]
สำหรับกฎหมายฉบับนี้ วุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบและผ่านเป็นกฎหมายอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยมีสาระสำคัญที่กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถขอตรวจสอบรายละเอียดประวัติอาชญากรรมทางเพศของบุคคลที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับเด็ก ผ่านทางกรมกิจการเด็กและครอบครัวไปยังกระทรวงยุติธรรม ซึ่งกำหนดให้การกระทำผิดที่ต้องการการตรวจสอบ อาทิ การกระทำผิดฐานมีเพศสัมพันธ์กับเด็กโดยไม่ยินยอม การกระทำผิดฐานฝ่าฝืนข้อห้ามสื่อลามกอนาจารเด็ก เป็น “อาชญกรรมลักษณะพิเศษ” และมีระยะเวลาที่สามารถขอตรวจสอบประวัติได้ ดังนี้
– กรณีต้องโทษคุมขังขึ้นไป มีระยะเวลา ๒๐ ปี นับจากสิ้นสุดการต้องโทษ
– กรณีต้องโทษปรับ มีระยะเวลา ๑๐ ปี
สำหรับ กลุ่มที่สามารถขอให้ตรวจสอบประวัติอาชญากรรมทางเพศได้ คือ บุคคลที่ได้รับการจ้างงานในระบบของบริษัทหรือหน่วยงาน และมีประวัติกระทำผิดบัญญัติหรือมาตราเกี่ยวกับการทำลามกอนาจาร พฤติกรรมแอบถ่าย เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ที่จะส่งให้รัฐบาลรับไปพิจารณาต่อจากนี้ เช่น การกำหนดให้พฤติกรรมแอบถ่ายใต้กระโปรงหรือชุดชั้นใน พฤติกรรมโรคจิตชอบสะกดรอยติดตาม อยู่ในกลุ่ม “อาชญากรรมลักษณะพิเศษ” รวมทั้งการกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพส่วนตัว เช่น ครูสอนพิเศษตามบ้าน หรือพี่เลี้ยงเด็ก อยู่ในกลุ่มผู้ที่สามารถได้รับการตรวจสอบได้นั้น ก็ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการร่วมของสองสภา
หลังจากประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดแนวทางเร่งด่วนในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อระบบดังกล่าว เช่น การกำหนดให้มีการโยกย้ายส่วนงานหรือเลิกจ้างหรือวิธีการจัดการอื่น ๆ ในกรณีที่บุคคลในองค์กรตรวจสอบพบว่ามีประวัติอาชญากรรมทางเพศ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าที่จะเริ่มใช้ระบบนี้ภายในระยะเวลาประมาณ ๒ ปี และจัดทำแนวทางสำหรับผู้ประกอบการต่อไป
“ก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่” ของกลุ่มที่ร้องขอให้นำระบบนี้มาใช้
กลุ่มที่ร้องขอให้นำระบบ “DBS” มาใช้ในญี่ปุ่นซึ่งเป็นระบบที่ตรวจสอบว่าบุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กมีประวัติอาชญากรรมทางเพศหรือไม่ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า “สิ่งนี้เป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่” โดยหลังจากนี้ จำเป็นต้องอภิปรายเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่จะต้องได้รับการตรวจสอบประวัติเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วยกลุ่มเอ็นพีโอ (องค์การไม่แสวงหาผลกำไร) และผู้เชี่ยวชาญ โดยหนึ่งในกลุ่มผู้ร้องขอนี้ซึ่งเป็นตัวแทนกรรมการบริหารบริษัทโฟรเรส ซึ่งเป็นนิติบุคคลบริหารจัดการธุรกิจด้านดูแลรับเลี้ยงเด็กทั่วประเทศได้ให้ความคิดเห็นว่า สภาพการณ์ในปัจจุบันนี้พบว่า ถึงแม้จะเป็นกรณีที่ปรากฎหลักฐานชัดเจนว่ามีการกระทำผิดทางเพศกับเด็ก แต่ยังไม่มีระบบเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน ทำให้ผู้กระทำผิดสามารถไปทำงานหรือเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ไปได้เรื่อย ๆ การนำระบบ DBS มาใช้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มบุคคลที่จะต้องได้รับการตรวจสอบประวัตินั้น ยังมีจุดที่ต้องปรับแก้ไขอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งจำเป็นต้องหารือกันต่อไป
อีกทั้ง ตัวแทนนิติบุคคลที่บริหารจัดการโรงเรียนสอนพิเศษทั่วประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวว่า เมื่อมีการใช้ระบบดังกล่าวข้างต้น ถึงแม้ว่าจะได้ผู้ที่เรียนเก่งและรู้จักตัวตนก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจทราบได้ว่าจะกระทำผิดทางเพศหรือไม่ ในความเป็นจริงแล้ว การตั้งคำถามว่าคนนี้ทำอย่างนั้นจริงหรือ หรือการที่ผู้ที่ก่อปัญหา/กระทำผิด ยังสามารถทำงานเป็นครูพี่เลี้ยงเด็กในพื้นที่อื่นได้ ล้วนก่อความกังวลใจให้กับผู้ประกอบการอยู่ไม่น้อย ถือเป็นการขอบคุณอย่างยิ่งที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบเรียบร้อย จากนี้ไปก็จะต้องพูดคุยสื่อสารอย่างละเอียดว่าควรจะจัดการเรียนการสอนหรืออบรมเด็กในโรงเรียนสอนพิเศษอย่างไร หรือจะแนะนำการเรียนการสอนอย่างไร
รวมทั้ง ยังมีเสียงสะท้อนจากนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย โดยได้กล่าวว่า ในที่สุดญี่ปุ่นก็มาถึงจุดเริ่มต้นที่สามารถคุ้มครองเด็ก ๆ จากความรุนแรงทางเพศได้ ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องดูว่าจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรภายใต้ระบบหรือรูปแบบไหน และปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรมผู้สอนหรือดูแลเด็กให้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายในครั้งนี้ ทำให้เราต้องดูว่าเด็ก ๆ จะได้รับการคุ้มครองอย่างไรต่อจากนี้ไป
จังหวัดฟูกูโอกะ จัดตั้งศูนย์รับปรึกษาผู้ประทุษร้ายทางเพศ
จังหวัดฟูกูโอกะได้มีการจัดตั้งศูนย์รับปรึกษาผู้ประทุษร้ายทางเพศ เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว ตามบัญญัติว่าด้วยการหยุดการทารุณทางเพศ โดยผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำทางเพศ เช่น ผู้ที่ไม่สามารถเลิกพฤติกรรมแอบถ่ายหรือลวนลามหรือคุกคามทางเพศ รวมถึงผู้มีประวัติถูกจับกุมฐานความผิดทางเพศ หรือผู้ที่ไม่มีประวัติสามารถขอคำปรึกษาได้ทั่วประเทศเป็นแห่งแรก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ๔ ปี มีผู้มาขอรับคำปรึกษาทั้งทางโทรศัพท์หรือเดินทางมาด้วยตนเองกว่า ๓๔๐ ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่เข้าร่วมโครงการเฉพาะที่ให้คำปรึกษาส่วนตัวหลายครั้งจำนวน ๑๖๕ ราย
สำหรับวิธีการให้บริการจะให้ผู้เข้าขอรับคำปรึกษาเขียนกราฟชีวิต และมองย้อนดูเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และจัดการความคิดของตนเอง โดยจากการให้บริการพบว่า สาเหตุของการทารุณทางเพศมีความซับซ้อนมากกว่าหนึ่งสาเหตุ เช่น มีประสบการณ์ที่เจ็บปวดในช่วงวัยเด็กหรือผลกระทบจากครอบครัว ซึ่งตัวอย่างผลการวิเคราะห์ที่ได้เกี่ยวกับผู้ทำร้ายร่างกายเด็ก พบว่า ผู้ที่กระทำผิดนั้นรู้สึกว่าตนเองมีสถานะทางสังคมอ่อนแอและเป็นกลุ่มที่มุ่งทำทารุณทางเพศกับผู้ที่อ่อนแอมากกว่าตนเอง นอกจากนี้ พบว่า มีผู้ที่รู้สึกโดดเดี่ยวจำนวนมาก ดังนั้น การทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายลงถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเริ่มรู้สึกผูกพันกันมากขึ้นจากการที่มาปรึกษาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ดังกล่าวมีเป้าหมายในการช่วยเหลือ สนับสนุนและให้คำแนะนำกับผู้ที่มีพฤติกรรมชอบกระทำความรุนแรงทางเพศเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ถูกกระทำการทารุณทางเพศและสร้างสังคมที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังพบว่า มีกลุ่มหรือหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำเมื่อผู้ที่กระทำกลับเข้าสู่สังคม ดังนั้น กระบวนการที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือว่ามีความหมายสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินการของแต่ละจังหวัด
การดำเนินการในต่างประเทศเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำทางเพศ
ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่น ได้ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษซึ่งใช้ในการเป็นต้นแบบของระบบที่จะนำมาใช้ พบว่า มีระบบที่อาสาสมัครในท้องถิ่นสามารถให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำผิดทางเพศที่ออกจากเรือนจำ โดยรัฐเป็นผู้ดำเนินการและได้รับความร่วมมือจากเอ็นพีโอ สำหรับวิธีการดำเนินการนั้น จะเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านการใช้ชีวิตของผู้กระทำผิดหลังออกจากเรือนจำ เป็นระยะเวลา ๑ ปี ด้วยการรับฟังปัญหาและความคับข้องใจที่เกิดขึ้นแต่ละเรื่องในชีวิตประจำวันตามระยะเวลาที่กำหนด โดยมีอาสาสมัครจำนวนมากที่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทาง ซึ่งมีการจัดระบบที่ให้อาสาสมัครสามารถขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องจากสถานพยาบาล ที่ปรึกษา หรือเจ้าหน้าที่คุมประพฤติเกี่ยวกับวิธีการช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อการฟื้นฟูชีวิตของผู้ที่เคยกระทำผิดทางเพศได้ ซึ่งประเทศที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ จะอยู่ในทวีปอเมริกา อาทิ แคนาดา สหรัฐอเมริกา
“ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลทั้งหมดเพื่อเดินหน้าดำเนินการ”
เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ความรุนแรงทางเพศที่มีต่อเด็กเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอย่างใหญ่หลวงตลอดชีวิตและยากที่จะฟื้นคืนกลับมาได้ เราจะต้องไม่ให้มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากนี้ไปรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อให้การดำเนินการตามกฎหมายที่ออกมาได้อย่างราบรื่น เช่น การจัดทำคู่มือหรือแนวทางสำหรับผู้ประกอบการ นอกจากนี้ กรมกิจการครอบครัวและเด็กจะต้องเป็นหน่วยงานหลักและจะต้องขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลทุกภาคส่วนเพื่อให้สามารถสร้างสังคมที่เด็ก ๆ หรือประชาชนวัยหนุ่มสาวทุกคนสามารถไร้ความกังวลและใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย
ที่มาของข่าว : https://www3.nhk.or.jp/news/html/20240619/k10014485421000.html
ผู้แปล : นายตรรกวิทย์ มิ่งขวัญ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ
กลุ่มงานภาษาญี่ปุ่นและเกาหลี
ผู้ทาน : นางณัฏฐ์สุมน สมสมาน ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานภาษาญี่ปุ่นและเกาหลี
นางสาวศิรสา ชลายนานนท์ นักวิเทศสัมพันธ์เชี่ยวชาญ
กลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ตรวจ : นางสาวกฤษณี มาศรีจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักภาษาต่างประเทศ
สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร