คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ สภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีนายเหงียน วัน ฮุก ฟุก (Mr. Nguyen Van Phuc) รองประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภาแห่งชาติเวียดนาม (Vice-Chairman of the Economic Affairs Committee Assembly–Socialist Republic of Vietnam) ให้การต้อนรับและได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. ด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนจากต่างประเทศ
ที่ผ่านมาเวียดนามเกิดสงครามและมีการปฏิวัติในภาคใต้ของประเทศจึงทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่มีการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว เพราะมีกลยุทธ์ตามทฤษฎีตั้งองค์กรรวม และนโยบายในการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมที่เรียกว่า “โด่ย เหมย (DOI MOI)” ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2529
และใน พ.ศ. 2530 เวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศทำให้สามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งรวมถึงนักลงทุนจากไทยเข้ามาลงทุนในประเทศและทำให้มีแหล่งเงินทุนสำหรับการพัฒนาประเทศจากเดิมที่เคยขาดแคลนเงินทุน กฎหมายส่งเสริมการลงทุนเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในธุรกิจได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ มีการอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ตลอดจนมีมาตรการทางด้านภาษี โดยลดภาษีนำเข้า ร้อยละ ๑๐-๒๕
นอกจากนี้ เวียดนามยังมีนโยบายเศรษฐกิจระดับเอกชนที่ทำให้มีการลงทุนมากขึ้น โดยเรียนรู้ประสบการณ์จากไทย อีกทั้ง เวียดนามยังมีนโยบายเปิดประเทศ โดยเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน (ASEAN) และมีการลงทุนกับประเทศสมาชิก เช่น ไทย สิงคโปร์ เป็นต้น รวมถึงได้เข้าเป็นสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) และมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ตลอดจนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ซึ่งเคยมีเลขาธิการองค์การการค้าโลกเป็นคนไทย จึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเวียดนาม การเปิดประเทศของเวียดนามทำให้มีการส่งออกสินค้าร้อยละ ๗๐ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) แม้ว่าเวียดนามพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วแต่ยังประสบปัญหาด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจและคุณภาพสินค้า ด้านสาธารณูปโภคที่ยังไม่ดีพอ รวมถึง ปัญหาด้านการจราจรและการบริหารจัดการด้านสภาพแวดล้อม
๒. ด้านเกษตรกรรม
เวียดนามเป็นประเทศเกษตรกรรมโดยมีเกษตรกรประมาณร้อยละ ๗๐ ของประชากร แต่ในอดีตการผลิตข้าวต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล ประชาชนจึงไม่สามารถผลิตข้าวได้เองจึงต้องมีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเวียดนามมีการปลูกข้าวบริเวณลุ่มแม่น้ำแดงผลิตข้าวได้ไม่แตกต่างจากไทย ขณะที่ภาคกลางของประเทศขาดแคลนข้าวเป็นจำนวนมากจำเป็นต้องซื้อข้าวที่ผลิตจากภาคใต้และลุ่มน้ำโขงของประเทศ ซึ่งแต่ละครอบครัวจะมีสมุดบันทึกเพื่อจดว่าจะรับข้าวและแลกเปลี่ยนข้าวได้จำนวนเท่าใด มีคูปองแลกข้าวและเนื้อสัตว์ ดังนั้น ต่อมารัฐบาลเห็นว่านโยบายแบบเก่าไม่มีประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจจึงปรับเปลี่ยนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามมีการแบ่งที่ดินให้กับประชาชนทำกินทำให้สามารถผลิตข้าวได้จำนวนมากขึ้น การผลิตข้าวของประชาชนมิใช่เลี้ยงครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่สามารถขายได้ เนื่องจากรัฐบาลให้การช่วยเหลือประชาชนด้านการชลประทาน ส่งผลให้ปี ๒๕๕๒ เวียดนามสามารถส่งออกข้าวไปขายทั่วโลกมากเป็นอันดับสองรองจากไทย โดยมีการส่งออกข้าวได้จำนวน ๖ ล้านตัน ตลาดสำคัญ คือ ทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภาแห่งชาติเวียดนาม มีบทบาทในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการลงทุน การชลประทาน การคมนาคมในระยะยาว ตลาดจนนโยบายด้านวัฒนธรรม การพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท โดยเฉพาะพัฒนาประชาชนที่อาศัยแถบภูเขา
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
๑. การเดินทางศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการ ทำให้ทราบถึงนโยบายการปฏิรูปเวียดนาม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศและสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุน โดยออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ลงทุนต่างชาติ ทำให้มีรายได้ มีแหล่งเงินทุน มีการจ้างแรงงาน และมีรายได้จากภาษีของผู้ลงทุนเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มีการส่งออกสินค้าสำคัญหลายชนิด อาทิ ข้าว แม้ว่าเวียดนามจะเป็นประเทศที่เคยเกิดสงคราม และมีการปฏิวัติทางภาคใต้มาเป็นเวลาหลายปีก็ตาม แต่สามารถพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าได้
๒. คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภาแห่งชาติเวียดนามมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามในโครงการต่าง ๆ ผลักดันให้ประเทศมีการพัฒนาที่ดีขึ้น จึงควรที่จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมาธิการของทั้งสองประเทศต่อไป
๓. เวียดนามเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก สังเกตจากสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น การแสดงหุ่นกระบอกน้ำที่มีนักท่องเที่ยวเข้าชมเต็มทุกที่นั่ง และล่องเรือชมธรรมชาติอ่าวฮาลองเบย์ เป็นต้น
๔. เวียดนามมีปัญหาด้านการจราจรทั้งในกรุงฮานอยและนอกเมือง เนื่องจากประชาชนมีการใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเดินทางจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ผู้ขับรถโดยสารให้คณะกรรมาธิการได้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยขับรถนอกเขตเมืองไม่เกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้ทำให้การเดินทางล่าช้าแต่มีความปลอดภัย ซึ่งไทยควรนำมาปรับใช้ให้ผู้ขับรถมีจิตสำนึก และปฏิบัติตามกฎจราจรที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อลดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปัจจุบันที่มีอัตราสูง
คำค้น เวียดนาม, การพาณิชย์, ทรัพย์สินทางปัญญา, โด่ย เหมย, DOI MOI, อุตสาหกรรมและการลงทุน, เกษตรกรรม
เสาหลัก เศรษฐกิจ
|