๑. การบริหารจัดการระบบความมั่นคงด้านพลังงานน้ำ
โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรีเป็นโครงการระยะยาว เป็นการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งนี้ เขื่อนแห่งนี้เป็นการก่อสร้างเขื่อนแบบ Storage large จำนวน ๒ แหล่ง ที่จะเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน เมื่อถึงฤดูแล้งจะปล่อยน้ำออกจากเขื่อน เพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตร และการทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขง เป็นระบบการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เช่นเดียวกับเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และระบบการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแบบ Run - of - the river ซึ่งเป็นลักษณะเช่นเดียวกับเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนทดน้ำบางปะกง ในทางวิศวกรรมเห็นว่าเป็นผลบวกแก่โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี นอกจากนี้ ยังมีการ
ควบคุมจากคณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขงที่จะควบคุมการบริหารจัดการน้ำโขงออกนอกพื้นที่ที่กำหนด หากมีการนำน้ำออกนอกพื้นที่จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการเพื่อทางคณะกรรมการแจ้งต่อประเทศสมาชิกทราบ และประเทศสมาชิกจะต้องอนุญาตก่อนจึงจะนำน้ำออกนอกพื้นที่ได้ในกรณีที่ใช้น้ำในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีนั้นจะเป็นการแจ้งให้ประเทศสมาชิกทราบโดยไม่ต้องรอการอนุญาตจากประเทศสมาชิก เนื่องจากการก่อสร้างยังอยู่ในเงื่อนไขการใช้น้ำร่วมกัน ดังนั้น จึงมีความชัดเจนในการบริหารจัดการน้ำของโรงไฟฟ้า
๒. ความมั่นคงด้านพลังงานของไทย
ความมั่นคงด้านไฟฟ้า ตามที่ผู้พัฒนาโครงการได้ทำสัญญาการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นเวลา ๒๙ ปี หลังจากนั้นโรงไฟฟ้าไซยะบุรีจะเป็นกรรมสิทธิ์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าน้ำงึม ส่วนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งไปตามสายส่งที่ออกแบบที่เหมาะสมกับปริมาณที่สามารถผลิตได้ และได้ดำเนินการก่อสร้างสายส่งไปยังจังหวัดเลย
ของไทย หากมีการหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับไทยก็ไม่สามารถจำหน่ายให้กับประเทศอื่นได้
๓. การรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของปลา นอกจากการตรวจสอบโดยมอนิเตอร์ผ่านเขื่อนแล้ว ยังมีแผนที่จะสร้างสถานีเพาะพันธุ์ปลาและจะมีการเพาะพันธุ์ปลาเศรษฐกิจ และในช่วงระยะเวลา
การก่อสร้างเขื่อนนั้น ปลาสามารถที่จะว่ายน้ำผ่านไปในช่องทางการเดินเรือได้ นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งตรวจจับปลา เพื่อตรวจสอบผลการดำเนินการว่าปลาสามารถที่จะผ่านได้มากน้อยเพียงใด ที่ผ่านมาปลาสามารถว่ายผ่านขึ้นลงได้ และในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีนั้นได้มีการศึกษาดูงานจากต่างประเทศในหลายมิติ เช่น การสร้างระบบ Fish Passing โดยการจ้างบริษัทให้ออกแบบการสร้างและตรวจสอบการก่อสร้างระบบรับส่งปลา
๔. จุดคุ้มทุนของการสร้างโรงไฟฟ้า
การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีคาดว่าจะมีจุดคุ้มทุนในการก่อสร้าง หลังจาก ๑๘ ปี ที่ผลิตไฟฟ้าได้
๕. นโยบายในอนาคต
ในอนาคตจะมีการพัฒนาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นต้น ทั้งนี้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งเข้ามาในไทย
๖. ปัญหาในการดำเนินการของโรงไฟฟ้าไซยะบุรี
๑) การบริหารการดำเนินงาน ระยะเวลากับผลการดำเนินงานไม่ตรงตามเป้าหมายในการดำเนินงานในช่วงแรก
๒) การควบคุมปริมาณน้ำในช่วงการเริ่มก่อสร้าง ช่วงนั้นมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่านทางอันดามันผ่านสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นำความชื้นเข้ามา และประจวบกับมีแม่น้ำจากหลายแหล่งไหลมารวมกัน จึงเกิดปัญหาการปิดกั้นน้ำในพื้นที่เพื่อทำการก่อสร้าง
๓) การต่อต้านจากภาคประชาสังคม
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
คณะกรรมาธิการมีความเห็นว่าควรมีการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างการยอมรับของภาคประชาสังคม
คำค้น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, โรงไฟฟ้า, โรงไฟฟ้าพลังน้ำ, พลังงานน้ำ
เสาหลัก เศรษฐกิจ
|