ผลกระทบแรงงานไทยกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) |
กระทู้ถามที่ 946/2556
| สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24/2554 |
วันที่เสนอ |
22 สิงหาคม 2561 |
สมัยคณะรัฐมนตรี |
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร |
ชื่อผู้ตั้งกระทู้ถาม |
นายวัชระ เพชรทอง พรรคประชาธิปัตย์ แบบบัญชีรายชื่อ |
ชื่อผู้ถูกตั้งกระทู้ถาม |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง) |
ชื่อผู้ตอบกระทู้ถาม |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง) |
ประเภทกระทู้ถาม |
กระทู้ถามที่ตอบในราชกิจจานุเบกษา |
สถานภาพกระทู้ถาม |
กระทู้ถามที่ตอบในที่ประชุม
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 130
ตอนพิเศษ 114 ง หน้า 35 ลงวันที่ 6 กันยายน 2556
|
หมายเหตุ |
กรณีกระทู้ถามทั่วไปที่ขอให้ตอบในที่ประชุมสภา
โอนไปตอบในราชกิจจานุเบกษา
เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551
ข้อ 162 วรรคสาม กำหนดให้กระทู้ถามที่ต้องตอบในที่ประชุมสภา ทั้งที่ได้รับการบรรจุและยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระ
ในสมัยประชุมหนึ่ง ๆ เมื่อสิ้นสุดสมัยประชุมให้ประธานสภารวบรวมแจ้งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดำเนินการตอบในราชกิจจานุเบกษาภายในสามสิบวัน
|
สรุปสาระสำคัญของกระทู้ถาม |
เนื่องจากอุตสาหกรรมในไทยบางประเภท เช่น สิ่งทอ รองเท้า มีการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำ ซึ่งเจ้าของสินค้าไม่ได้ลงทุนสร้างโรงงานแต่เป็นนายทุนจากต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสาธารณรัฐเกาหลี มีการร่วมทุนกับคนในท้องถิ่นเพื่อความสะดวกและคุ้มค่ากับการลงทุนในประเทศนั้นๆ แล้ว ในอนาคต แรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่ขอเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะลดลงเป็นลำดับ เมื่อสามารถทำงานที่ประเทศของตนเองได้กลายเป็นสาเหตุในการชักจูงให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทใช้แรงงาน (Labor Intensive Industries) และขยายไปยังอุตสาหกรรมประเภทที่ใช้เทคนิคและเงินทุนสูงขึ้นในอนาคต แรงงานที่มีความสามารถความชำนาญมากกว่าก็จะเข้าไปแย่งงานประชาชนในท้องถิ่นจนกว่าประชาชนท้องถิ่นนั้นจะสามารถพัฒนาเรียนรู้ตามได้เป็นวัฏจักรต่อไป ผู้ตั้งกระทู้ถามขอทราบว่า รัฐบาลจะมีมาตรการใดที่จะสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้ความสามารถในอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานต่างชาติเข้ามาแย่งงานของประชาชนในประเทศไทยดังกล่าวอย่างไร ขอทราบรายละเอียด
|
สรุปสาระสำคัญของคำตอบกระทู้ถาม |
กระทรวงแรงงาน ได้วางมาตรการเพื่อความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยมุ่งหวังให้มีความเป็นสากลในด้านการคุ้มครองคนทำงานและต้นแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนี้
1. เร่งดำเนินการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และผลักดันไปสู่การจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานกลางอาเซียน
1.1 พัฒนาขีดความสามารถของแรงงานไทยในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน เช่น ความสามารถด้านภาษา ทักษะเกี่ยวกับโลจิสติกส์ และความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
1.2 พัฒนาระบบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติแล้ว 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยนต์ ตลอดจนจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ร่วมกับสภา สมาคม ชมรมวิชาชีพหรืออาชีพ
1.3 ฝึกอบรมเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน (labour productivity) ให้กับนักศึกษาจบใหม่ กำลังแรงงานในสถานประกอบการ ผู้ว่างงานหรือผู้ถูกเลิกจ้างจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ตลอดจนประชาชนทั่วไปในพื้นที่ที่ต้องการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่เอื้อต่อการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (innovation) และจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีชั้นสูงเพิ่มขึ้น
2. ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎ ระเบียบของกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี ตลอดจนคุ้มครองแรงงานไทยและต่างประเทศอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม
3. พัฒนาฐานข้อมูลกลางด้านตลาดแรงงานในประเทศและตลาดแรงงานในภูมิภาคอาเซียน โดยกำหนดโครงสร้างข้อมูลมาตรฐานที่มีความเชื่อมโยงกัน ระหว่างข้อมูลการผลิต พัฒนากำลังคน (supply side) และข้อมูลความต้องการกำลังคน (demand side) และพัฒนาศักยภาพของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
4. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดทำแผนการพัฒนากำลังคน
ในระดับประเทศเป็นรายสาขาวิชาชีพ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศและตลาดแรงงานในภูมิภาคอาเซียน
5. พัฒนาระบบการจัดการแรงงานและเสริมสร้างศักยภาพแรงงานเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและคุณภาพชีวิตในการทำงาน การจัดสวัสดิการแรงงาน แรงงานสัมพันธ์ และความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน
6. ประชาสัมพันธ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรีภายใต้ข้อตกลงตามกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งวัฒนธรรม ตลอดจนความรู้ ความเข้าใจในกฎหมายและระเบียบที่ใช้บังคับของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ให้แก่สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบวิชาชีพและผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดวิชาชีพในแต่ละสาขา
กรมการจัดหางาน มีมาตรการป้องกันมิให้แรงงานต่างชาติเข้ามาแย่งงานของคนไทย โดยมีภารกิจที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการสำรวจความต้องการของแรงงานและสถานประกอบกิจการในการจัดฝึกอบรมด้านภาษา โดยประสานวิทยากรจากทั้งภาคการศึกษาและเอกชนที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่อสามารถดำเนินการอบรมทักษะด้านภาษาให้แก่แรงงานได้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยมีการเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้แก่แรงงานไทยก่อนที่จะเปิดประชาคมอาเซียน
หากในอนาคตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนประสบความสำเร็จก็อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง เช่น การเพิ่มจำนวนของแรงงานต่างด้าว การควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าว เช่น การทะเบียน สวัสดิการของแรงงานต่างด้าว เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ เพื่อเป็นการรองรับผลกระทบดังที่กล่าวมาข้างต้น สำนักงานประกันสังคมมีการเตรียมการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลและการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบอย่างละเอียด อาทิ การพัฒนาระบบ e-Service การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านประกันสังคมระหว่างประเทศ การอบรมความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนและระบบประกันสังคมในอาเซียน การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านธุรกิจและกฎหมายประกันสังคมแก่ผู้ประกอบการ
|
เอกสารต้นเรื่อง |
1. ต้นฉบับกระทู้ถาม 2. สรุปสาระสำคัญ
|