คำตอบข้อที่ 1 โดยภาพรวมการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ (ASEAN Free Trade Area : AFTA) จะก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ ในเชิงยุทธวิธีการดำเนินการ อาเซียนได้เปิดเสรีภายใต้กรอบ AFTA อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้เริ่มทยอยทำการเปิดเสรีมาเป็นลำดับตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่อาจได้รับผลกระทบมีระยะเวลาในการปรับตัว และสามารถเตรียมความพร้อมในการเปิดเสรีที่มากขึ้นได้ และก่อนที่จะดำเนินการเปิดเสรีในระดับที่สูงขึ้น รัฐบาลโดยหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อตกลงฯ ได้ทำการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ข้อมูลที่จำเป็นและกำหนดแนวทางในการเจรจาเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาจากการเปิดเสรีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ในส่วนของมาตรการในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนชาวไทยจากข้อตกลงระหว่างประเทศไทยและอาเซียน ได้มีการดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้
1. มาตรการรองรับผลกระทบอันเกิดจากการยกเลิกโควตาภาษี (Tariff Rate Quota : TRQ) สินค้าเกษตร 22 รายการ รัฐบาลได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเป็น 3 ระบบ ได้แก่
1.1 ระบบการบริหารการนำเข้า โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดมาตรการแนวทางเพื่อรองรับผลกระทบตามความอ่อนไหวของสินค้า เช่น กำหนดให้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า แสดงใบรับรองสุขอนามัย เป็นต้น
1.2 ระบบติดตามการนำเข้า ในการจัดทำฐานข้อมูลติดตามตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรภายใต้ความตกลงขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ทั้ง 22 รายการ
1.3 ระบบติดตามตรวจสอบและประเมินผลการนำเข้า โดยศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ความเคลื่อนไหวทั้งปริมาณและราคาอย่างใกล้ชิดและรวดเร็ว เพื่อประสานหารือแนวทางแก้ไขปัญหาและวางมาตรการรองรับ
2. มาตรการปกป้องจากความเสี่ยงอันสืบเนื่องมาจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure : SG) ภายใต้พระราชบัญญัติมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 หากพบว่ามีการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้ประกอบการ จะสามารถใช้มาตรการปกป้องด้วยการเรียกเก็บอากรขาเข้าเพิ่มจากอากรปกติ การกำหนดปริมาณการนำเข้า หรือการใช้โควตาภาษี เป็นต้น ทั้งนี้จะใช้มาตรการกับสินค้าที่นำเข้าจากทุกประเทศ โดยมีระยะเวลาในการใช้มาตรการได้ครั้งละไม่เกิน 4 ปี
3. มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) ภายใต้พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 หากพบว่ามีการนำเข้าสินค้าทุ่มตลาด หรือมีการอุดหนุนการส่งออกมาประเทศไทย ทำให้อุตสาหกรรมภายในผู้ผลิตสินค้าของไทย ได้รับความเสียหายจะสามารถใช้มาตรการกับเฉพาะประเทศผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกสินค้าทุ่มตลาดหรืออุดหนุนมายังประเทศไทย โดยกำหนดมาตรการ 5 ปี และสามารถต่ออายุได้อีกคราวละไม่เกิน 5 ปี
คำตอบข้อที่ 2 ในกรณีที่ข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนนั้น รัฐบาลให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ซึ่งได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อดูแลการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และคณะทำงานดังกล่าวมีประธานผู้แทนการค้าไทย เป็นประธานและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน รวมทั้งภาคเอกชนและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยคณะทำงานฯ มีหน้าที่ศึกษาและประเมินผลกระทบในทางลบ รวมทั้งพิจารณามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทางลบ ตลอดจนบูรณาการมาตรการเยียวยาของหน่วยงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกัน
ปัจจุบันมาตรการเยียวยาทางการค้าหลักมี 2 มาตรการ ได้แก่ โครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์และกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดในการแข่งขันความสามารถของประเทศ ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งผู้ได้รับผลกระทบอาจเข้าร่วมโครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม พ.ศ. 2551 - 2555 ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงอุตสากรรมได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุนเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) โดยมีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
คำตอบข้อที่ 3 แผนงานในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษาในอาเซียนสู่การบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายใน พ.ศ. 2558 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานและมีหน่วยราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ คณะกรรมการนี้มีหน้าที่กำหนดทิศทางการพัฒนาบุคลากรและให้ความรู้กับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อรองรับการก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน โดยได้มีการพัฒนาหลักสูตรอาเซียน รวมทั้งจัดตั้งห้องสมุดและศูนย์อาเซียนศึกษาของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 54 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ในระดับอุดมศึกษาได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนใน
พ.ศ. 2558 โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาอีกด้วย
นอกจากนั้น ในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยได้มีการจัดการสัมมนาข้าราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องซึ่งได้รับการสนับสนุนของจากกระทรวงการต่างประเทศด้วย
|