คำตอบข้อ 1 รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งการเปิดและปิดภาคเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2549 ได้กำหนดการเปิดและปิดภาคเรียนไว้ดังนี้ ภาคเรียนที่ 1 เปิดวันที่ 16 พฤษภาคมและปิดวันที่ 11 ตุลาคม ส่วนภาคเรียนที่ 2 เปิดวันที่ 1 พฤศจิกายน และปิดวันที่ 1 เมษายน
เรื่องการเปิดภาคเรียนนี้ ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบซึ่งเดิมนั้นได้เลื่อนการเปิดภาคเรียนของภาคแรกจากวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันที่ 10 มิถุนายน ในระหว่างรอที่จะแก้ไขระเบียบนั้นได้มีการเปิดให้วิพากษ์วิจารณ์รับฟังความคิดเห็น และต่อมาได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพิจารณา
ที่ประชุมจึงมีมติให้เปิดและปิดภาคเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไว้ตามระเบียบเดิมเนื่องจากพิจารณาถึงความสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงาน และประเพณีต่างๆ ในช่วงดังกล่าว เป็นต้น
ส่วนของระดับอาชีวศึกษานั้น สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จะได้เข้าสู่ตลาดแรงงานตามความต้องการของตลาดแรงงาน ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม เนื่องจากในช่วงนี้มีความต้องการแรงงานสูงมากโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การบริการ การเกษตรกรรม ฯลฯ
ส่วนในระดับอุดมศึกษานั้นมีการเลื่อนการเปิดและปิดใหม่โดยปีการศึกษาในเทอมแรกนั้น เดิมเปิดเดือนมิถุนายนจึงได้เลื่อนไปเปิดกลางเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กที่จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 มีเวลาเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยประมาณ 4 เดือนครึ่ง รวมทั้งได้มีเวลาเตรียมตัวเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ
คำตอบข้อ 2 เนื่องจากตามกฎบัตรอาเซียนนั้นมิได้มีการกำหนดเรื่องการปรับเปลี่ยนวันเปิดและปิดภาคเรียนไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งให้พิจารณาได้ตามความเหมาะสม ดังนั้น ในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงคงเปิดและปิดภาคเรียนตามเดิม ส่วนในระดับอุดมศึกษานั้นได้ปรับเปลี่ยนการเปิดและปิดภาคเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศทั่วโลกและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น โดยได้เลื่อนระยะเวลาการเปิดและปิดภาคเรียนออกมา 2 เดือนครึ่ง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนบุคลากร นักเรียนและนักศึกษา พัฒนาคุณภาพการศึกษา เพิ่มทักษะนักเรียน นักศึกษา อันจะเป็นการยกระดับการศึกษาของประเทศไทย เพื่อไปสู่การแข่งขันในระดับสากลได้ต่อไป ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้มีทักษะจะทำให้มีความพร้อมที่จะประกอบอาชีพในอนาคต รวมทั้งช่วยสร้างความกลมกลืนของการศึกษาอันจะส่งผลให้เกิดการลดช่องว่างของความแตกต่างด้านภาษา วัฒนธรรม และพร้อมที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือ ในการปรับเวลาเปิดและปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับอาเซียนต่อไป
คำตอบข้อ 3 รัฐบาลมีแนวทางในการปรับหลักสูตรการเรียน การสอน ให้สอดคล้องกับประชาคมอาเซียน โดยปรับทั้งเป็นรายวิชา หรือปรับในเรื่องหลักสูตรบางหลักสูตรตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงระดับอุดมศึกษา และให้มีการบูรณาการในรายวิชาพื้นฐานโดยให้จัดทำเป็นรายวิชาเพิ่มเติม จัดทำกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จัดทำกิจกรรมเสริมหลักสูตร กิจกรรมการเรียนรู้ เป็นต้น รวมทั้งมีการดำเนินการตามโครงการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน (Spirit of ASEAN) เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 ปี 2550 ได้ตกลงร่วมกันว่าจะเลื่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจากปี 2563 มาเป็นปี 2558 และได้กำหนดกิจกรรมต่างๆ สำหรับประเทศไทยนั้น ในปี 2555 กำหนดว่าจะพัฒนาโรงเรียนต้นแบบของการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน จำนวน 68 โรงเรียน ใน 3 รูปแบบ คือ
1. Sister School คือ โรงเรียนคู่แฝดหรือคู่พัฒนา 30 โรงเรียน
2. Buffer School คือ โรงเรียนที่อยู่ชายขอบของประเทศหรือโรงเรียนรอยตะเข็บ 24 โรงเรียน
3. ASEAN Focus School คือ โรงเรียนที่เน้นทางด้านอาเซียน 14 โรงเรียน
โดยได้เริ่มตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้น และขยายเครือข่ายไปอีก 9 แห่ง ต่อมาในปี 2554 ได้มีการพัฒนาโรงเรียนคู่พัฒนาไทยกับอินโดนีเซียอีกจำนวน 23 โรงเรียน ในปี 2555 ขยายโรงเรียนพัฒนาโรงเรียนต้นแบบเพิ่มขึ้นอีก 163 โรงเรียน ใน 163 เขตพื้นที่การศึกษาเพื่อพัฒนาให้เป็น ASEAN Learning School และได้ขยายจนครบทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขตแล้ว ส่วนในระดับอุดมศึกษานั้น ได้ส่งเสริมความสามารถทางด้านทักษะในเรื่องของ ICT การดำรงชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรม รวมไปถึงการพัฒนาความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม การคิดวิเคราะห์ เป็นต้น และประเทศไทยได้มีหลักสูตรนานาชาติทั้งสิ้น 981 หลักสูตร มีสถาบันอุดมศึกษาเพื่อจะรองรับการนักศึกษาไทยและนักศึกษาจากต่างชาติ เช่น วิทยาศาสตร์สุขภาพ เวชศาสตร์เขตร้อน เกษตรเขตร้อน เทคโนโลยีชีวภาพ การท่องเที่ยว การโรงแรม และการบริหาร เป็นต้น
|