คำตอบข้อที่ 1 รัฐบาลมีนโยบายและยุทธศาสตร์ในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ และได้จัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ ซึ่งมีโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการข้าวสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต มีการพัฒนาเรื่องของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การสร้าง ตราสินค้า การใช้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาคุ้มครอง การทำตลาดเชิงลึกและเชิงรุก เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและทำห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) อย่างครบถ้วน รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งในการบ่มเพาะองค์ความรู้ โดยมีโครงการที่เรียกว่า Creative Co-op ของสหกรณ์ 6,868 แห่งทั่วประเทศ โดยจะมีการคัดสรรสหกรณ์นำร่อง 500 แห่งเข้าร่วมโครงการ จะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารธุรกิจ รูปแบบของการส่งเสริมพัฒนาผลผลิตของสมาชิกที่เป็นสินค้าเกษตร เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์ไทยกับสหกรณ์ต่างประเทศ เป็นช่องทางตลาด ที่เรียกว่าตลาดสถาบัน ซึ่งโครงการเหล่านี้รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน
คำตอบข้อที่ 2 การลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิในโครงการประกันรายได้หรือโครงการรับจำนำนั้น รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และได้เปลี่ยนแปลงจากระบบการรับจำนำมาสู่การประกันรายได้เกษตรกร ที่ไม่มีการส่งมอบผลผลิตแต่เป็นการรับประกันรายได้ของเกษตรกร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในโครงการประกันรายได้แต่ละช่วงฤดูกาล ซึ่งเกษตรกรจะต้องแจ้งพื้นที่เพาะปลูก และได้มีการประชุมกับท้องถิ่น อำเภอ กรมการค้าภายใน พาณิชย์จังหวัด กรมการค้าต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและป้องกันการลักลอบนำเข้าพืชเกษตรต่าง ๆ
ในส่วนของการดำเนินคดีตามกฎหมาย กรมศุลกากรได้ดำเนินการจับกุมปรับในเกณฑ์ที่สูงสุด ตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้น รวมทั้งยึดพาหนะเพื่อเป็นการสกัดกั้นไม่ให้มีการนำเข้าอีกต่อไป เพื่อไม่ให้มีการทุจริตและเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร
โดยคณะกรรมการบูรณาการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน จับกุมผู้ลักลอบได้ประมาณ 500 ราย รวมมูลค่าสินค้าประมาณ 20 ล้านบาท ในช่วงปี 2552 – 2553 สินค้าที่ถูกจับส่วนใหญ่ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ถั่ว เป็นต้น
คำตอบข้อที่ 3 การคุ้มครองผลผลิตทางการเกษตรและเกษตรกรไทย โดยมีมาตรการกำกับดูแลและติดตามการนำเข้าสินค้าเกษตรตามข้อผูกพัน AFTA 7 ประการ ได้แก่ (1) การกำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้า (2) การพิจารณาชนิดสินค้าที่จะนำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ (3) การกำหนดระยะเวลาการนำเข้า (4) ต้องมีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้หลัก Ruled of Origin (RoOs) (5) การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสินค้า (6) การกำหนดมาตรการด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดตามกติกาสากล และการกำหนดเงื่อนไขปลอดจีเอ็มโอ (GMO) และ (7) การกำหนดด่านที่จะนำเข้าสินค้า
ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มีกองทุนเอฟทีเอ ซึ่งกองทุนดังกล่าวได้เข้าไปดูแลเกษตรกรและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงการใช้มาตรการที่เป็นที่ยอมรับภายใต้กติกาสากล ในกรณีที่มีการทะลักเข้ามาของสินค้าและมีผลกระทบอย่างรุนแรง คือมาตรการปกป้อง (Safeguard) ของความตกลงต่าง ๆ ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)
สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการตั้งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยได้ดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบไปแล้วหลายโครงการใช้งบประมาณไปแล้วประมาณ 480 ล้านบาท มีมาตรการระบบป้องกันความเสี่ยง เช่น โครงการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับเกษตรกรในเรื่องความเสี่ยงด้านราคา และภัยธรรมชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องการปรับโครงสร้างพื้นฐาน ระบบน้ำ ระบบดิน การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรมีความรู้เพิ่มเติม การบริการข้อมูลข่าวสาร การสร้างระบบมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองสินค้าเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอีกด้วย
|