ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีเปิดงานสังสรรค์ ครบรอบ 71 ปี ศิลปศึกษา-ช่างศิลป ณ บริเวณวงเวียน วิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง กรุงเทพฯ
วันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2566 เวลา 19.00 นาฬิกา ณ บริเวณวงเวียน วิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง กรุงเทพฯ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดงานสังสรรค์ "ครบรอบ 71 ปี ศิลปศึกษา-ช่างศิลป" พร้อมทั้งมอบโล่เกียรติคุณแก่ศิษย์เก่าดีเด่นผู้ประสบความสำเร็จสร้างชื่อเสียง ทำคุณประโยชน์ให้วิทยาลัย ผู้สนับสนุนสมาคมฯ ประจำปี 2566
โอกาสนี้ ประธานรัฐสภา กล่าวเปิดงาน ใจความสำคัญว่า การจัดงานในวันนี้ ผู้ที่ทุกคนจะลืมไม่ได้คือ ศ.ศิลป์ พีระศรี (นามเดิม คอร์ราโด เฟโรจี) ผู้สร้างคุณูปการแก่วงการศิลปะของไทย ผู้วางรากฐานการศึกษาและริเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยช่างศิลปะ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตบุคลากรของวิทยาลัย วิทยาลัยช่างศิลปะมีชื่อเดิมว่า โรงเรียนศิลปศึกษา เปิดทำการสอนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2495 มีนักเรียนรุ่นแรกจำนวน 36 คน ต่อมากำหนดฐานะเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีชื่อว่า "โรงเรียนศิลปศึกษาเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร" และได้มีการเรียนการสอนโดยใช้อาคารเรียนร่วมกับโรงเรียนนาฎศิลป์ เริ่มแรกเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง และต่อมาเปิดหลักสูตรประโยคมัธยมการช่าง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2517 และหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูงในเวลาต่อมา หลังจากนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะโรงเรียนช่างศิลปขึ้นเป็น หลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพพุทธศักราช 2539 และหลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง และปี 2545 วิทยาลัยช่างศิลป ย้ายต้นสังกัดจากสถาบันศิลปกรรมมาเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
หลังจากที่นายชวน ได้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่จังหวัดตรัง ก็ได้มาศึกษาต่อทางด้านศิลปะที่โรงเรียนศิลปศึกษา แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาลัยช่างศิลปในปัจจุบัน) เป็นนักเรียนรุ่นที่ 6 จากเด็กต่างจังหวัดที่มีความรักและชื่นชอบในงานศิลปะ จนได้เข้ามาฝึกฝนความรู้ด้านศิลปะจากโรงเรียนศิลปศึกษา แต่เมื่อสำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์ อาชีพและการทำงานที่ผ่านมโดยตลอดไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะได้ทำงานศิลปะ แต่คงยังใช้เวลาขีด ๆ เขียน ๆ สเก็ตซ์หน้าพยานหรือคู่คดี บุคคลสำคัญ ผู้คนในหมู่บ้าน หรือไปงานบุญขณะที่พระสงฆ์สวดอยู่ ถ้ามีกระดาษปากกาก็จะสเก็ตชภาพผู้คนในงาน ด้วยความชอบและความสุขเพื่อช่วยให้จดจำเหตุการณ์และบุคคลได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมเห็นคุณค่าของงานศิลปะ โดยในช่วงปี พ.ศ. 2526 - 2529 ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ริเริ่มและผลักดันการก่อตั้งโครงการศิลปินแห่งชาติ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งในขณะนั้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ก่อตั้งโครงการดังกล่าวขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. 2527 ด้วยเหตุที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของศิลปิน ผู้รังสรรค์ผลงานด้านศิลปะ ด้านทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์ให้แก่ประเทศชาติ ทำให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่า มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชาติ จึงสมควรยกย่องเชิดชูเกียรติ ส่งเสริมสนับสนุน และให้กำลังใจแก่ศิลปิน ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ อันเป็นภูมิปัญญาของแผ่นดินจากศิลปินรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง หวังว่าทุกท่านที่ทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อประโยชน์ของชาติ จะได้รับแต่งตั้งเป็นศิลปีนแห่งชาติต่อไป ซึ่งโครงการนี้ได้รับการยกย่องจากสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นโครงการดีเด่นของชาติ พ.ศ. 2535 นอกจากนั้นยังให้มีการจัดตั้งหอศิลป์เพื่อรวบรวมงานศิลปะไม่ว่าแบบไทยหรือสากล เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะล้ำค่าอันทรงคุณค่าของแผ่นดินได้มีสถานที่ในการจัดแสดงผลงาน ทั้งนี้ ในเรื่องการส่งเสริมการศึกษา ครั้งที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการจัดทำโครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อให้โอกาสนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสศึกษาต่อ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา เพื่อให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงอีกด้วย เนื่องในโอกาสครบรอบ 71 ปี วันสถาปนาโรงเรียนศิลปศึกษา - ช่างศิลป ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันในการมาร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระคุณของครูอาจารย์ การพบปะสังสรรค์ การส่งเสริมความผูกพันสามัคคีระหว่างเพื่อน พี่น้อง และผู้อยู่ร่วมในสถาบันแห่งนี้ด้วยความรัก