การประชุมประธานรัฐสภาโลก ครั้งที่ ๕ (ภาคออนไลน์) (The 5th World Conference of Speakers of Parliament : 5WCSP - virtual segment) เป็นวันที่สอง
เมื่อวันที่ ๒๐ ส.ค. ๖๓ เวลา ๑๙.๐๐ - ๒๓.๐๐ น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา
และประธานสภาผู้แทนราษฎร ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา
เข้าร่วมการประชุมประธานรัฐสภาโลก ครั้งที่ ๕ (ภาคออนไลน์)
(The 5th World Conference of Speakers of Parliament : 5WCSP - virtual segment)
เป็นวันที่สอง ต่อเนื่องจากการประชุมวันแรก ซึ่งมีกำหนดการสำคัญ
ต่าง ๆ ได้แก่ พิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ การเสวนาในแบบดาวอส
(Davos-Style discussion) การนำเสนอรายงานการประชุม รวม ๓ หัวข้อ
ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมนำเสนอ
รายงานในหัวข้อ "หนึ่งทศวรรษที่เหลืออยู่สู่การบรรลุวาระแห่งการพัฒนา
ที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ (Decade of action to achieve the 2030 Agenda for
Sustainable Development)" ร่วมกับประธานรัฐสภานอร์เวย์ และการอภิปรายแบบ
เป็นคณะ รวม ๒ หัวข้อสำหรับการประชุมในวันที่สอง นายชวน หลีกภัย
ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าร่วมการประชุม ณ อาคารรัฐสภา
ขณะที่ศ.พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วยผู้แทนรัฐสภาไทย
ประกอบด้วย นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้เข้าร่วมการประชุม
ณ อาคารสุขประพฤติการประชุมเริ่มต้นด้วยการนำเสนอรายงานใน ๒ หัวข้อ ได้แก่
(๑) ประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงบทบาทของรัฐสภาในศตวรรษที่ ๒๑
และ (๒) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และจริยธรรม : ความท้าทายใหม่และวิธีแก้ไข
ปัญหาเร่งด่วน จากนั้น เป็นการอภิปรายแบบเป็นคณะ (panel discussions)
ใน ๓ หัวข้อ คือ
(๑) การปรับปรุงการบริหารราชการโดยลดช่องว่างระหว่างรัฐสภากับประชาชน
(๒) การเสริมสร้างเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนที่นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีและ
ความยุติธรรมสำหรับทุกคน และ
(๓) การต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง : มุมมอง
ของผู้เคราะห์ร้าย ปิดท้ายด้วยการรับรองปฏิญญา หัวข้อ "บทบาทนำของภาครัฐสภา
เพื่อเสริมสร้างระบบพหุภาคีนิยมสู่สันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก
และประชาชน" และพิธีปิดการประชุม
ในการนี้ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้ร่วมอภิปรายในการเสวนา
หัวข้อ "การเสริมสร้างเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนที่นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีและ
ความยุติธรรมสำหรับทุกคน (Forging inclusive and sustainable economies that
delivers well-being and justice for all)" ซึ่งมีสาระสำคัญความว่า
นอกเหนือจากความจำเป็นต่อการกำหนดมาตรการระยะสั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพ
ของเศรษฐกิจและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางซึ่งประสบความลำบากอย่างมากที่สุด
จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) แล้วยังมีความจำเป็น
ในการทบทวนมาตรการระยะยาวภายใต้ความปกติใหม่ (New Normal)
ซึ่งวางอยู่บนฐานของแนวคิดการตอบสนองต่อการฟื้นฟูที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(Green Recovery) ที่จะตอบโจทย์ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติทั่วโลกพึงต้องแสดงเจตจำนงเพื่อส่งสัญญาณไปยัง
ประชาคมโลกว่ารัฐสภาพร้อมเป็นแบบอย่างในการนำพาโลกให้เข้าสู่ยุค
"เศรษฐกิจสีเขียว" ภายใต้บริบทของการรับมือกับวิกฤต COVID-19
และจากนี้ตลอดไป
อนึ่ง โอกาสนี้ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา และนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล
สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ในการประชุม 5WCSP
ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ครั้งนี้ด้วย
เครดิต : ข่าวโดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร