ประธานรัฐสภา ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “ผู้นำธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยในการขับเคลื่อนประเทศ” ณ สถาบันพระปกเกล้า
วันจันทร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องศักดิเดชน์
ภูวไนย ฝั่งห้องอบรม ชั้น ๕ สถาบันพระปกเกล้า ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้าให้เกียรติ
บรรยายพิเศษหัวข้อ “ผู้นำธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยในการขับเคลื่อนประเทศ”
ให้แก่ ผู้เข้าอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลของผู้บริหารระดับกลาง
รุ่นที่ ๒๒ โดยมี นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร
ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะผู้บริหารสถาบันพระปกเกล้า
ร่วมรับฟังการบรรยาย
โอกาสนี้ ประธานรัฐสภา ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “ผู้นำธรรมาภิบาลและประชาธิปไตย
ในการขับเคลื่อนประเทศ” โดยมีใจความว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช ๒๕๕๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ พบว่า
ความในมาตรา ๓ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญของประเทศไทยฉบับก่อน ๆ
นั้นก็คือได้มีการเพิ่มความในวรรคสอง ของมาตรา ๓ ว่า "รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล
องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย
และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชน
โดยรวม" จึงตั้งข้อสังเกตได้ว่า ถ้าหากไม่มีการเพิ่มความในมาตรา ๓ วรรคสอง
การใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง ๓ อำนาจไม่จำเป็นต้องยึดหลักนิติธรรมหรืออย่างไร หรือ
หมายความว่า ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยสามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ เช่นนั้นใช่หรือไม่
ก็คงจะตอบได้ว่า ถึงแม้ความตามมาตรา ๓ วรรคสองจะไม่ได้บัญญัติไว้เช่นนั้น
การใช้อำนาจดังกล่าวก็จะต้องยึดหลักนิติธรรมอยู่เสมอ แต่การที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทยทั้งสองฉบับได้บัญญัติเพิ่มความในวรรคสองของมาตรา ๓ ไว้เช่นนั้น
ก็เพื่อให้ตระหนักว่า การบริหารราชการทั้งหลายนั้นต้องยึดหลักนิติธรรมไม่ใช่วิธีการอื่น
ที่เป็นการนอกเหนือไปจากกฎหมายของบ้านเมืองและ"หลักธรรมาภิบาล" หรือ
"การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี" มาจากคำว่า "Good Governance " ในภาษาอังกฤษ
ส่วนคำในภาษาไทย เพิ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยเป็นผลจากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
ในประเทศไทยที่เรียกว่า "ต้มยำกุ้ง" อันเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ของประเทศรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเงินของไทยทั้งที่เป็น
ภาคธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร นำไปสู่ความสูญเสียทุนสำรองจนเกือบ
หมดสิ้น รัฐบาลในขณะนั้นได้ขอเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
หรือ “ไอเอ็มเอฟ” เพื่อเสริมทุนสำรองระหว่างประเทศการเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในครั้งนั้น
ประเทศไทยยังโชคดีประการหนึ่งที่แม้จะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เกิดเหตุการณ์
ที่เป็นวิกฤติทางสังคมทั้งนี้ เนื่องจากลักษณะทางสังคมของประเทศไทยมีความเอื้อเฟื้อ
เผื่อแผ่และมีสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง คนตกงานในยุคนั้นจึงไม่ถึงขั้นเป็นคนไร้ที่อยู่
อย่างที่ปรากฏในบางประเทศ แต่เมื่อตกอยู่ในภาวะที่ไร้อาชีพ ก็กลับไปอยู่กับครอบครัว
ที่ภูมิลำเนาของตน ช่วยทำงานในครัวเรือน ประกอบกับมีแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นการสร้างค่านิยมที่ทำให้ตระหนักถึงความพอประมาณ
ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดี ลดสิ่งที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็นซึ่งปัจจัยเหล่านี้
จึงเป็นส่วนช่วยให้ประเทศไม่เกิดวิกฤติทางสังคม แม้จะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจก็ตาม
ภายหลังจากการเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งดังที่กล่าวมานั้นทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าสมควร
ที่จะต้องกำหนดนโยบายและวางระเบียบปฏิบัติราชการ รวมทั้งภาคเอกชน เพื่อให้การ
จัดระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพป้องกันไม่ให้เกิด
เหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก หลักธรรมาภิบาลจึงเป็นหลักเกณฑ์ที่มีความสำคัญประการหนึ่ง
เนื่องจากเป็นหลักการบริหารงานที่ตั้งมั่นอยู่บนหลักการที่เที่ยงธรรม สุจริต โปร่งใส
ตรวจสอบได้ และมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้กระทำ พร้อมตอบคำถามหรือตอบสนอง
ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และพร้อมรับผิด จึงมีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย
การสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมีหลักสำคัญ
๖ ประการ ประกอบด้วย ๑. หลักนิติธรรม ๒. หลักคุณธรรม ๓. หลักความโปร่งใส
๔. หลักความมีส่วนร่วม ๕. หลักความรับผิดชอบ ๖. หลักความคุ้มค่า
นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มอีกประการหนึ่ง คือ “หลักความไม่เกรงใจ” เพราะประเทศไทย
เคยชินกับคำว่าเกรงใจ จนบางครั้งย่อมกระทำในสิ่งที่ผิด เช่นยอมทำตามคำสั่ง
ผู้บังคับบัญชา เกรงใจผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ถูกต้อง แต่ยัง
กระทำเพราะความเกรงใจ
ในโอกาสนี้ ขอน้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเสด็จออก
มหาสมาคม งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๕๒ ณ พระที่นั่ง
อมรินทรวินิจฉัย วันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ ใจความตอนหนึ่งว่า“ความสุขความสวัสดี
ของข้าพเจ้า จะเกิดมีขึ้นได้ ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญมั่นคงเป็นปกติสุข
ความเจริญมั่นคงทั้งนั้น จะสำเร็จผลเป็นจริงได้ ก็ด้วยทุกคน ทุกฝ่ายในชาติ มุ่งที่
จะปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เต็มกำลัง ด้วยสติรู้ตัว ด้วยปัญญารู้คิด และด้วยความสุจริต
จริงใจ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ยิ่งกว่าส่วนอื่น จึงขอให้ท่านทั้งหลายในที่นี้
ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ อยู่ในสถาบันหลักของประเทศ และชาวไทยทุกหมู่เหล่า
ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่าง แล้วตั้งจิตตั้งใจให้เที่ยงตรง หนักแน่น
ที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวมอันไพบูลย์ คือ
ชาติบ้านเมือง อันเป็นถิ่นที่อยู่ที่ทำกินของเรา มีความเจริญมั่นคงยั่งยืนไป”