ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การต้อนรับ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการฯ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือข้อราชการประเด็นการขอคืนสถานะของ กสม.
วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุมประธานรัฐสภา
ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร
ให้การต้อนรับ นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการฯ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือ
ข้อราชการประเด็นการขอคืนสถานะของ กสม. โดยมี นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการ
ประธานสภาผู้แทนราษฎร น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร
และ น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมหารือ
โดย นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องจาก กสม.
ถูกลดสถานะจาก "เอ”เป็น “บี” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน
แห่งสหประชาชาติ ด้วยเหตุผลหลัก ๕ ข้อ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยสถาบันแห่งชาติ
เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (หลักการปารีส) ซึ่ง กสม. อยู่ในระหว่างการขอทบทวน
สถานะจากคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub - Committee on Accreditation : SCA) โดย
ในระหว่างกระบวนการทบทวนสถานะ กสม. จะต้องแสดงให้ SCA เข้าใจถึงหน้าที่และอำนาจตาม
กฎหมายจัดตั้ง รวมทั้งความน่าเชื่อถือในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อการดำเนินงาน
ทั้งด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับหลักการปารีสด้วย ทั้งนี้ ประเด็นที่
กสม. มีข้อกังวลกังวลใจในประเด็นที่ SCA จะดำเนินการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ในวันที่ ๘ ธ.ค. ๖๓
คือ มาตรา ๒๔๗ (๔) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ คณะกรรมการ
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่และอำนาจ ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยไม่ถูกต้องหรือ
ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่ SCA ทวงติงมา ซึ่งทาง กสม. ได้พยายามชี้แจงแล้วว่า แม้จะมีการ
บัญญัติแต่เป็นไปเพื่อวางระเบียบไว้ แต่ไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดก้าวล่วงการทำหน้าที่ของ กสม.
แต่อย่างใด จึงอยากขอหารือต่อประธานรัฐสภา เนื่องจากขณะนี้รัฐสภากำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จึงอยากขอฝากประเด็นดังกล่าวด้วย พร้อมกันนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ประธานรัฐสภา และขอชื่นชม
ที่ได้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้น โดยใช้เวทีรัฐสภา อันเป็นเวทีของผู้แทนจากประชาชน
ในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกให้กับประเทศด้วยสันติวิธี ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากหลาย ๆ ประเทศ
ด้าน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า หาก กสม. ต้องการให้มีการแก้ไขในประเด็น
ที่กล่าวมา ขอให้ทำหนังสือไปยังคณะ กมธ. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๕๖ และเพิ่มหมวด ๑๕/๑) และ
หากมีข้อเสนอแนะเรื่องการสร้างความปรองดอง ก็ขอให้เสนอแนะมายังรัฐสภาต่อไป