ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหลักสูตร ผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ 75
วันอังคารที่ 15 มิถุนาย 2564เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ห้องสัญญา ธรรมศักดิ์ ชั้น 7 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหลักสูตร “ผู้ช่วยผู้พิพากษา” รุ่นที่ 75 ภาคปฐมนิเทศ ในหัวข้อ “ผู้พิพากษาในความคาดหวังของประชาชน” ให้แก่ผู้ช่วยผู้พิพากษาที่ได้รับการบรรจุใหม่ จำนวน 42 คน โดยมี นายวิวัฒน์ มุ่งการดี ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา และ น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมรับฟังการบรรยาย โอกาสนี้ ประธานรัฐสภา ได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ ศาลาดุสิตาลัย เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 18 ความว่า "เมื่อกฎหมายของเราดีอยู่แล้ว จุดใหญ่ที่สำคัญที่สุดในการธำรงรักษาความยุติธรรมในบ้านเมือง จึงได้แก่การสร้างนักกฎหมายที่ดี ที่จะสามารถวิเคราะห์ และใช้กฎหมายได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้ทุกคนสร้างตนให้เป็นนักกฎหมายที่ดีแท้ โดยฝึกตนให้มีความกล้าในอาชีพของนักกฎหมาย คือกล้าที่จะปฏิบัติการไปตามความถูกต้องเที่ยงตรงทั้งตามกฎหมายและศีลธรรม ไม่ปล่อยให้ภยาคติคือความเอนเอียงไปด้วยความหวาดกลัวในอิทธิพลต่าง ๆ เข้าครอบงำ สำหรับเป็นกำลังส่งให้ทำงานได้ด้วยความองอาจ มั่นใจ และมุมานะ” จากพระบรมราโชวาทดังกล่าว ทำให้เห็นว่าไม่มีอาชีพใดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราโชวาทรับสั่งว่าให้ปฏิบัติตนให้ดีแท้ แต่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้นักกฎหมายสร้างตนเองให้เป็นนักกฎหมายที่ดีแท้ ไม่ใช่แต่เพียงดีในระดับธรรมดาเท่านั้น ซึ่งการตีในระดับธรรมดาอาจจะมีความรู้และความซื่อสัตย์สุจริต แต่เมื่อประสบปัญหาวิกฤตอาจจะไม่กล้าตัดสินใจ แต่การเป็นนักกฎหมายที่ดีแท้คือการฝึกตนให้มีความกล้าในวิชาชีพของนักกฎหมาย พร้อมทั้งได้กล่าวถึงโครงสร้างการปกครองของประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 อำนาจ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต เป็นผู้กำหนดฝ่ายบริหารซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม การที่มีผู้แทนมาจากการเลือกตั้งใช่ว่าจะสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเสมอไป หากระบบการเลือกตั้งซึ่งเป็นกลไกของการมีผู้แทนนั้นไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ก็ทำให้การได้มาซึ่งผู้แทนของประชาชนเป็นไปโดยไม่ชอบธรรมเช่นกัน และเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารมาจากจุดเดียวกัน การเลือกผู้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎรที่ดีหรือไม่ดีก็จะสะท้อนถึงการได้มาซึ่งรัฐบาลดีหรือไม่ดีเช่นเดียวกัน หากเราได้ผู้แทนเสียงข้างมากที่ดี เราก็จะได้รัฐบาลที่ดี และคนที่ดีมาปกครองบ้านเมือง แต่หากได้ผู้แทนที่มาจากการทุจริตตั้งแต่เริ่มต้น เราก็จะได้รัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชัน อีกทั้งแต่ละอำนาจมีการใช้อำนาจภายในขอบเขตของตนภายใต้หลักนิติธรรมซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหัวใจของหลักธรรมาภิบาล หรือ การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 6 ประการ ได้แก่
1. หลักนิติธรรม คือ การตรากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกติกาต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม
2. หลักคุณธรรม คือ การยึดถือและเชื่อมั่นในความถูกต้องดีงาม
3. หลักความโปร่งใส คือ การทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา และสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้
4. หลักความมีส่วนร่วม คือ การทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และร่วมเสนอความเห็นในการตัดสินใจที่สำคัญของสังคม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้ามามีส่วนร่วม
5. หลักความรับผิดชอบ คือ การที่ผู้บริหารตลอดจนคณะข้าราชการทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ต้องตั้งใจปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ให้ดีที่สุด
6. หลักความคุ้มค่า คือ การที่ผู้บริหารต้องตระหนักว่ามีทรัพยากรค่อนข้างจำกัด ดังนั้น ในการบริหารจัดการจึงจำเป็นจะต้องยึดหลักความประหยัดและความคุ้มค่า ซึ่งจำเป็นจะต้องตั้งจุดมุ่งหมายไปที่ผู้รับบริการหรือประชาชนโดยส่วนรวมแต่ที่สังคมไทยในปัจจุบันยังคงเกิดปัญหาต่าง ๆ เนื่องจากไม่นำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในภาคปฏิบัติ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองในขณะนี้คือการนำเอาความรู้ จริยธรรมทั้งหลายมาปฏิบัติให้เกิดผล ยึดหลักความยุติธรรม รวมทั้งต้องเพิ่มหลักความไม่เกรงใจต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้องอีกข้อหนึ่ง เพราะมีข้าราชการดี ๆ หรือนักการเมืองดี ๆ หลายคนต้องติดคุก เพราะมาจากความเกรงใจ มีการแก้ระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือนักการเมืองให้ได้ประโยชน์แต่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย โดยความเกรงใจนั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้ายแต่ต้องเกรงใจให้ถูกเรื่อง
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญของบ้านเมือง คือ การสร้างคนดี มีการปกครองโดยคนดีและหลักกฎหมายที่ดี เพราะหากมีหลักกฎหมายที่ดี แต่คนปฏิบัติ
ไม่ดีก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมา ดังนั้น การสร้างหลักเกณฑ์ของบ้านเมืองที่ดีกับการสร้างคนดีเพื่อให้ปกครองบ้านเมืองจึงต้องควบคู่กันไปแต่ท่ามกลางปัญหา อุปสรรค และความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองนั้น สถาบันศาลซึ่งใช้อำนาจตุลาการยังคงเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนมาโดยตลอด และสามารถรักษาความเป็นสถาบันหลักของบ้านเมืองอยู่ได้ ซึ่งหากศาลไม่มั่นคง ไม่ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม บ้านเมืองของเราคงจะมีปัญหามากกว่านี้ โดยอาจกล่าวได้ว่า "ศาลยังคงเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง"
ทั้งนี้ ในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก สิ่งที่ประชาชนคาดหวังเกี่ยวกับสถาบันศาล คือ ศาลที่เข้าใจปัญหาต่าง ๆ ในบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ให้รู้เท่าทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอซึ่งทุกท่านต้องเรียนรู้ทุกวัน การที่มีความรอบรู้ในข้อกฎหมายต่าง ๆ และมีความรอบรู้ในด้านอื่น ๆ ด้วย จะสามารถทำให้วินิจฉัยอรรถคดีต่าง ๆ ได้อย่างเที่ยงตรง เที่ยงธรรม โดยหนึ่งในอำนาจอธิปไตย คือ อำนาจตุลาการ และศาลเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นในการบังคับใช้กฎหมายอันเป็นกติกาของบ้านเมือง ซึ่งจะทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย ดังนั้น ผู้พิพากษาจึงต้องเป็นบุคคลที่เป็นคนดี เที่ยงตรง มีความเป็นธรรม กล้าตัดสินใจในสิ่งที่รู้ว่าผิดหรือถูก ถ้าผิดต่อกฎหมายก็ต้องกล้าที่จะตัดสินลงโทษโดยไม่เกรงใจ โดยผู้พิพากษาไม่เพียงแต่จะให้ความยุติธรรมในอรรถคดีเท่านั้น หากจะต้องทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไปด้วยและในช่วงท้าย ประธานรัฐสภา ได้ให้กำลังใจกับผู้ช่วยผู้พิพากษาที่ได้รับการบรรจุใหม่ และอำนวยพรให้ประสบความสำเร็จ เจริญก้าวหน้า และเป็นตุลาการที่ดีของบ้านเมืองต่อไป