ประธานรัฐสภา ให้เกียรติเป็นวิทยากรปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “หลักนิติธรรมกับการปกครอง” ให้แก่ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาคต้น ปีการศึกษา 2564 ในรายวิชากฎหมายบริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะ ผ่านระบบออนไลน์ (โปรแกรม Zoom)
วันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2564 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องทำงานประธานรัฐสภา ชั้น 10 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติเป็นวิทยากรปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “หลักนิติธรรมกับการปกครอง” ให้แก่ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาคต้น ปีการศึกษา 2564 ในรายวิชากฎหมายบริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะ ผ่านระบบออนไลน์ (โปรแกรม Zoom)
โดย นายชวน หลีกภัย ได้กล่าวถึงหลักนิติธรรมกับการปกครองอยู่คู่กันมาตามวิถีทางประชาธิปไตยมาหลายยุคหลายสมัย ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลในแต่ละสาขาอาชีพหากยึดถือหลักการความถูกต้องชอบธรรม เคารพกฎหมาย ยึดหลักความเสมอภาค การทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เห็นได้ถึงการปกครองที่อยู่ภายใต้หลักนิติธรรมอย่างแท้จริง ประเทศไทยปกครองด้วยระบบกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย หากคำนึงถึงหลักนิติธรรมประเทศก็จะเกิดความเรียบร้อย ความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นสิ่งที่สำคัญในภาคปฏิบัติ การมีหลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าให้การปฏิบัติหน้าที่ต้องยึดหลักนิติธรรม ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นหลักประกันที่จะทำให้ประเทศเกิดความสงบเรียบร้อย หลักประกันสำคัญที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข คือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่จะต้องไม่ละเลยการดำเนินการตามหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมจะสัมฤทธิ์ผลได้ หาใช่เพราะบัญญัติไว้ เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ “หลักนิติธรรม” ย่อมเกิดผลสัมฤทธิ์จาก “ภาคปฏิบัติ” อย่างแท้จริง สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้มีการบัญญัติคำว่า นิติธรรม ไว้ในมาตราต่าง ๆ อาทิ มาตรา 3 วรรคสอง “รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม มาตรา 26 “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย” การบัญญัติเรื่อง “หลักนิติธรรม”ไว้เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักร่วมกัน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่จำเป็นที่จะต้องยึด “หลักนิติธรรม” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมา ได้ใช้ระบบการปกครองหลักแบ่งแยกอำนาจ มีการถ่วงดุลซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ
ทั้งนี้ จากประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง สมควรที่จะต้องกำหนด นโยบายและวางระเบียบปฏิบัติราชการ รวมทั้งภาคเอกชน เพื่อให้การจัดระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก โดยออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี หรือที่เรียกกันว่าหลักธรรมาภิบาล มี 6 ประการ
1. หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่างๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอำเภอใจหรืออำนาจของตัวบุคคล
2. หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคมและส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจน เป็นนิสัยประจำชาติ หลักนี้จะช่วยส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง
3. หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุง กลไกการทำงานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใสมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ อย่างตรงไป ตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการ ให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้
4. หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติหรืออื่น ๆ
5. หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมืองและกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพ ในความคิดเห็นที่แตกต่างและความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทำของตน
6. หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกและรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืนซึ่งจะเห็นได้ว่า “หลักนิติธรรม” ก็เป็นหลักสำคัญประการหนึ่งของหลักธรรมาภิบาล อาจกล่าวได้ว่า “หลักนิติธรรม” ที่ได้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีความเด่นชัดก็ปรากฏอยู่ในระเบียบดังกล่าว เป็นหลักการสำคัญในหลักธรรมาภิบาล ที่เน้นย้ำให้การปกครอง ที่ปกครองภายใต้กฎหมาย มิใช่ตามอำเภอใจหรืออำนาจของตัวบุคคล อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกาของข้าราชการที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง แต่ยังกระทำสิ่งผิดๆ นั้น อันเกิดจากความเกรงใจของข้าราชการต่อผู้บังคับบัญชา หรือฝ่ายการเมือง โดยเห็นว่าควรเพิ่มเติมคือ ข้อ 7. ต้องไม่เกรงใจไปทำอะไรในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ได้กล่าวถึงเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้ดำเนินการให้กับเยาวชน อาทิ การขยายมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โครงการนมโรงเรียน และโครงการอนุบาลชนบท รวมทั้งเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ทั้งยังได้กล่าวถึงพัฒนาการด้านการศึกษาของไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันที่ได้มีการปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนกล่าวถึงการเมืองกับการศึกษา โดยการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ปัญหาของบ้านเมืองในเวลานี้ได้มีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นในหลายด้าน จะเห็นได้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหาที่สำคัญคือการละเลยไม่ดำเนินการตามหลักนิติธรรม ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ไม่ใช่บ้านเมืองใดที่มีหลักนิติธรรมแล้วบ้านเมืองนั้นจะบังเกิดแต่ความสงบเรียบร้อย แต่การปฏิบัติโดยยืดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างแท้จริงย่อมเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งที่จะส่งผลให้บ้านเมืองนั้นมีความสงบเรียบร้อย มั่นคง และยั่งยืน ในการนี้ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมในการดังกล่าว สำหรับโครงการดังกล่าวจัดขึ้นโดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในรายวิชากฎหมายบริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะ ตลอดจนเพิ่มประสบการณ์ให้กับนักศึกษามากยิ่งขึ้น