การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 29 (วันที่สาม)
วันพุธที่ 15 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 29 ประชุมจัดขึ้นระหว่างเวลา 07.00 – 14.00 น.
ช่วงเช้า เวลา 07.30 – 10.00 น. มีการประชุมคู่ขนาน 2 การประชุม ได้แก่ 1) การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วมการประชุม APPF ครั้งที่ 29 (ครั้งที่ 2) และ 2) การประชุมเต็มคณะ วาระที่ 3 ด้านความร่วมมือระดับภูมิภาคภายในเอเชีย-แปซิฟิก การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วมของการประชุม APPF ครั้งที่29
นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยมีนาย Hong Ihk-Pyo สมาชิกรัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลี เป็นประธานการประชุม ซึ่งในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) การประชุม APPF ครั้งที่ 29 ร่วมกันร่างแถลงการณ์ร่วมฯ กล่าวถึงภาพรวมของการประชุมทั้งหมด ประกอบด้วยวันและสถานที่จัดประชุม จำนวนผู้เข้าร่วมประชุม การประชุมคณะกรรมการบริหาร การประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี การประชุมเต็มคณะ และช่วงปิดการประชุม ซึ่งในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในส่วนของการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีและการประชุมเต็มคณะทั้ง 3 วาระ มีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นที่ผู้แทนรัฐสภาไทยได้กล่าวถ้อยแถลงไว้ อาทิ การบรรลุความเท่าเทียมทางเพศโดยการเพิ่มการมีส่วนร่วมและการเป็นตัวแทนของสตรี การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศแบบพหุภาคีเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ข้ามชาติต่าง ๆ บทบาทของรัฐสภาในการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ความปลอดภัยทางธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการสร้างความสมดุลระหว่างการควบคุมโรค เศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของแถลงการณ์ร่วมฯ ได้กล่าวถึงการรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APPF ครั้งที่ 30 ของรัฐสภาไทยด้วย
ส่วนการประชุมเต็มคณะ วาระที่ 3 ด้านความร่วมมือระดับภูมิภาคภายในเอเชีย-แปซิฟิก นายวาโย อัศวรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมดังกล่าวภายใต้หัวข้อ “บทบาทของรัฐสภาในการสร้างความสมดุลระหว่างการควบคุมโรค เศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชน และแนวคิดสำหรับความร่วมมือระหว่างรัฐสภา (The role of parliaments in balancing disease control, economy and human rights, and ideas for inter-parliamentary cooperation)” โดยได้กล่าวถึง มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน จึงควรมีมาตรการต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และเป็นหน้าที่สำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบและสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐ มาตรการเยียวยาต่าง ๆ และนโยบายการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมของรัฐบาลไทยเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน อีกทั้งกล่าวถึงบทบาทของรัฐสภาไทยต่อมาตรการป้องกันโรคต่าง ๆ และการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล นอกจากนี้ การเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศของรัฐสภาไทยที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิกรัฐสภา และยังได้เชิญชวนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาและดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการควบคุมโรค เศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชนด้วย
ช่วงบ่าย เวลา 12.00 – 14.00 น. เป็นการประชุมเต็มคณะช่วงสุดท้าย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำคณะผู้แทนรัฐสภาไทยประกอบด้วย นายศุภดิช อากาศฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางสาวปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม สมาชิกวุฒิสภา นายวิวัฒน์ มุ่งการดี ที่ปรึกษาคณะผู้แทนรัฐสภาไทย นางสาวศิริภา อินทวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นางสาวสตีจิตร ไตรพิบูลย์สุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะที่ปรึกษาคณะผู้แทนรัฐสภาไทย นางบุณฑริกา ชุณหะนันทน์ ผู้อำนวยการสำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ พร้อมด้วยข้าราชการสำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนสำนักอื่น ๆ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
การประชุมเต็มคณะช่วงสุดท้ายมีนาย Park Byeong-seug ประธานรัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลี เป็นประธานการประชุม โดยเริ่มจากการกล่าวรายงานผลการประชุมคณะกรรมการบริหาร ได้แก่ การเห็นชอบรายงานการนำร่างข้อมติที่สำคัญไปปฏิบัติโดยประเทศสมาชิก การแก้ไขข้อบังคับการประชุม การแต่งตั้งสมาชิกของคณะกรรมการบริหารชุดใหม่จากประเทศในอนุภูมิภาค การยืนยันการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งถัดไปของประเทศไทย การเลื่อนสถานะของบรูไนดารุสซาลามจากประเทศผู้สังเกตการณ์เป็นประเทศสมาชิก
จากนั้น เป็นการกล่าวถ้อยแถลงของนางสาว Nik Hafimi Abdul Haadii หัวหน้าคณะผู้แทนสภานิติบัญญัติบรูไน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อการสนับสนุนบรูไนดารุสซาลามในการเข้าเป็นสมาชิก APPF และมีความยินดีที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
ภายหลังจากการกล่าวถ้อยแถลงของหัวหน้าคณะผู้แทนสภานิติบัญญัติบรูไน นางสาว Nam In-soon สมาชิกรัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลี ได้กล่าวรายงานผลการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี และนาย Hong Ihk-Pyo สมาชิกรัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลี ได้กล่าวรายงานผลการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วม นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้การรับรองข้อมติ จำนวน 13 ข้อและแถลงการณ์ร่วม และลงนามในแถลงการณ์ร่วมผ่านการลงนามอิเล็กทรอนิกส์
หลังจากนั้น เป็นการนำเสนอวีดิทัศน์แนะนำประเทศไทยและสุนทรพจน์ของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะรัฐสภาประเทศเจ้าภาพการประชุมครั้งถัดไป โดยสรุปสาระสำคัญ คือ การแสดงความยินดีต่อความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 29 ของรัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลี และชื่นชมนาย Yasuhiro Nakasone ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ APPF สำหรับการอุทิศตนและการก่อตั้งองค์การ และเชื่อมั่นว่าความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และความร่วมมือกัน จะช่วยสนับสนุนสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค และยินดีต้อนรับผู้แทนฯ ทุกท่านเข้าร่วมการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 30
ในลำดับสุดท้ายเป็น สุนทรพจน์ของนาย Park Byeong-seug ประธานรัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลี โดยเน้นย้ำพันธกิจในการเสริมสร้างความสามัคคีและความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และเอาชนะโรคระบาด COVID-19
เครดิตภาพและข่าว: กลุ่มงานกิจการพิเศษ สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร