ประธานรัฐสภา ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยาย หัวข้อ : การปฏิรูปการเมืองและความมั่นคงเพื่อการบริหารงานและการปกครองที่ดีระหว่างภาคการเมืองภาคราชการ และกองทัพ ให้กับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 3 ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยาย "หัวข้อ : การปฏิรูปการเมืองและความมั่นคงเพื่อการบริหารงานและการปกครองที่ดีระหว่างภาคการเมือง ภาคราชการ และกองทัพ" ให้กับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 3 (สวปอ.มส.SML รุ่นที่ 3) จัดโดย สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์
โดยนายชวน กล่าวถึงการปฏิรูปการเมืองว่า ประเทศไทยเราเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่พัฒนา ระบบรัฐสภา มานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ซึ่งสังคมการเมืองไทยมีพัฒนาการ และได้บทเรียนในหลากหลายแง่มุม ความพยายามในการปฏิรูปการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมีมาโดยตลอด และปรากฏ ชัดเจนและสังคมรับรู้ในรูปแบบที่เรียกว่า การปฏิรูปการเมือง หากเราต้องการให้การปฏิรูปการเมือง บรรลุผลสำเร็จ และเป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งสุดท้าย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทบทวนบทเรียนจากอดีต โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทับถมอยู่บนสังคมไทยมานาน ฉะนั้นการปฏิรูปเฉพาะด้านการเมืองคงไม่เพียงพอแล้ว จะต้องปฏิรูปสังคมทั้งระบบ ซึ่งการปฏิรูปนี้ หมายความรวมถึงการฟื้นฟูวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิม และการสร้างแบบแผนการปฏิบัติใหม่ๆ ที่เกื้อหนุนต่อกระบวนการประชาธิปไตย โดยที่ทุกภาคส่วนหรือทุกองคาพยพ ทั้งที่เป็นสถาบัน องค์กรที่เป็นและไม่เป็นทางการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะและชนชั้น ต้องเข้าร่วมการปฏิรูปนี้ เพื่อเป้าหมายร่วมกันคือ วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบไทย ด้วยผลจากความล้มเหลวในการปฏิรูปการเมืองโดยอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณาเป็นลำดับแรกคือ อะไรคือเป้าหมายหลักของการปฏิรูปการเมือง หากการปฏิรูปมุ่งที่จะแก้ปัญหาการ เผชิญหน้าและความแตกแยกระหว่างประชาชนภายในประเทศ อันเป็นปัญหาเร่งด่วน การอาศัยรัฐธรรมนูญขจัดปัญหาไม่น่าจะช่วยอะไรได้ และอาจจะทำให้ความขัดแย้งทวีรุนแรงขึ้นได้ อย่างไรก็ตามลำพังรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่ร่างขึ้นตามหลักการของระบอบ ประชาธิปไตยอย่างครบถ้วน ย่อมไม่สามารถดลบันดาลให้เกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการมีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงได้ หากกฎเกณฑ์เหล่านี้ไม่มีการนำมาถือปฏิบัติกันจริง ๆ และการปฏิรูปการเมืองไม่สามารถเปลี่ยนวิถีปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยได้ ทั้งนี้เพราะในประเทศประชาธิปไตยใหม่ทั้งหลายรวมทั้งสังคมไทย กฎเกณฑ์ที่เป็นทางการ ตามระบอบเสรีประชาธิปไตยกับพฤติกรรมจริง ๆ หรือกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นทางการมักจะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ส่งผลให้การพัฒนาประชาธิปไตยเป็นไปได้ลำบาก และนี่คือปัญหาที่สังคมไทยเผชิญภายหลัง ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปการเมืองจึงเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยระยะเวลาไม่น้อยและมักจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ในชั่วข้ามคืน นอกจากนั้น ความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดระบอบเสรีประชาธิปไตยที่มั่นคงยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีประชาสังคมที่อิสระและกระตือรือร้น สถาบันทางการเมืองที่ เข้มแข็งและทำงานประสานสอดคล้องกัน การปกครองตามหลักนิติธรรม ระบบราชการที่ดี การกระจายรายได้และระบบสวัสดิการที่ดี นอกจากนั้นการตรวจสอบดังกล่าวยังกระตุ้นให้กลไกการตรวจสอบโดยรัฐสภาและองค์กรอิสระ ทั้งหลายทำหน้าที่ควบคุมการใช้อำนาจรัฐให้อยู่ขอบเขตมากขึ้นประชาสังคมจึงนับว่ามีบทบาท สำคัญยิ่งการพัฒนาระบอบเสรีประชาธิปไตย
ความหมายของคำว่า การปฏิรูปการเมือง คือ การปรับปรุง แก้ไขปัญหาของระบบการเมืองทั้งระบบ เพื่อให้นักการเมืองในระบบมีความสุจริต และแก้ไขปัญหาตลอดจนคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง และการปรับปรุงกลไกของระบบการเมืองส่วนกลางที่กำหนดโดยกฎหมายเพื่อลดและป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมืองและเพิ่มประสิทธิภาพของการเมืองในการแก้ปัญหาของประเทศ
เพราะฉะนั้น การปฏิรูปการเมือง คือทำให้การเมืองสุจริต หากการเมืองคอร์รัปชัน การเมืองทุจริตจะเรียกว่าปฏิรูปการเมืองได้อย่างไร หากการเมืองไม่สุจริต สิ่งที่ตามมาคือ ภาระของประชาชนที่เสียภาษี ข้าราชการขี้โกงต้องพยายามทำให้ทุกองค์กรขจัดคนโกงให้ได้ ด้วยการสร้างหลักที่ดี และได้คนดีมาทำงาน และความมั่นคงเพื่อการบริหารงานและการปกครองที่ดีระหว่างภาคการเมือง ภาคราชการ และกองทัพ จึงควรทำให้การเกิดการปฏิรูปการเมืองและทำให้บ้านเมืองสุจริต ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งของการปฏิรูปการเมือง เพราะถ้าย้อนกลับไปหลายสิบปีที่ผ่านมาของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการยึดอำนาจหลายครั้ง และในแต่ละครั้ง จะได้เห็นเหตุผลหนึ่งเกือบทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจคือการทุจริต มีพฤติกรรมทุจริต ประพฤติมิชอบ เป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเห็นดีเห็นงามกับการยึดอำนาจแต่ละครั้ง คือความไม่สุจริตของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง ทั้งนี้ ตนในฐานะที่เป็นนักการเมืองมานานกว่า 50 ปี เริ่มทำงานการเมืองมาตั้งแต่ปี 2512 จนบัดนี้ยังทำหน้าที่ในฐานะนักการเมือง ได้เห็นกับตาตัวเองว่า เมื่อนักการเมืองลงทุน ไม่มีที่ไม่เอาคืน แต่ละคน ซื้อเสียงมา โกงมาลงทุน 20 - 30 ล้านบาท มากินเงินเดือน เดือนละแสนหนึ่งนั้นไม่คุ้มค่า หากไม่โกงจะเอาที่ไหนไปใช้ หลายคนจึงต้องไปโกง ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจว่าการโกง คือการเบียดเบียนประชาชน นักการเมือง เขาก็จะเลือกข้าราชการโกงเป็นมือไม้ให้เขา ถ้าข้าราชการดี ไม่ร่วมมือกับเขา เขาก็โกงยาก ข้าราชการโกง ก็เลือกนักธุรกิจที่โกง มาเป็นที่ปรึกษา มาทำงานใด ๆ ก็ตาม ร่วมกัน หลายเรื่องล้วนโยงใยเกี่ยวข้องกัน ตั้งแต่ข้างบนลงล่าง ข้าง ๆ ไปถึงอีกด้านหนึ่ง ถ้าอยากได้นักการเมืองสุจริต ต้องอย่าสนับสนุนคนซื้อเสียง ต้องเริ่มตั้งแต่ท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต
การปฏิรูปและการปกครองที่ดีที่สุดคือ การใช้หลักกฎหมาย หลักนิติธรรม และหลักธรรมาภิบาล การปกครองที่ดี ไม่ใช่ปกครองด้วยหลักเท่านั้น ต้องการคนดีด้วย หลักที่ดี กับคนดี ต้องไปด้วยกัน การบริหารงานและการปกครองที่ดีระหว่างภาคการเมือง ภาคราชการ และกองทัพ จึงจะสัมฤทธิผล ดังนั้น การพยายามที่จะพิจารณาปัญหาการปฏิรูปการเมืองในสังคมไทยจากมุมมองของการพัฒนาไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตย โดยชี้ให้เห็นถึงแนวคิดเกี่ยวกับเป้าหมายของการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการขับเคลื่อนพัฒนาการเมืองประชาชนทุกคนถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ ในฐานะประธานรัฐสภาได้เน้นยึดหลักการบริหารบ้านเมืองตามต้นแบบการปกครอง 3 อำนาจอธิปไตยคือ ด้านนิติบัญญัติ ด้านบริหารและด้านตุลาการ ซึ่งทั้ง 3 ด้าน จะทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดและเดินหน้าพัฒนาบ้านเมืองไปสู่ความสุจริตปราศจากคอร์รัปชัน และขับเคลื่อนบ้านเมืองให้สุจริตคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน โดยการสร้างความตระหนัก รับรู้ที่ดีในการส่งเสริมคนดีและนำคนดีมาบริหารบ้านเมือง ผ่านการรณรงค์ปลูกฝั่งในเด็กและเยาวชนให้มีจิตสำนึกไม่นิ่งดูดายและทนต่อการทุจริตคอร์รัปชันอันจะนำไปสู่บ้านเมืองสงบสุข แต่หากวัตถุประสงค์เบื้องต้นของการปฏิรูปการเมืองคือการผลักดันให้เกิดการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยเต็มรูป อันเป้าหมายระยะยาวแล้ว รัฐธรรมนูญน่าจะช่วยได้มากทีเดียว เพราะบทบาทหลักของรัฐธรรมนูญคือ การกำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การมีระบอบประชาธิปไตยที่ทำงานได้ดี โดยรัฐธรรมนูญจะมีหน้าที่สำคัญในการสร้างองคาพยพทางการเมือง วางรูปแบบสถาบันและกระบวนการในการจัดการปกครอง และกำหนดขอบเขตในการใช้อำนาจ รัฐธรรมนูญ จึงมีฐานะเป็นเครื่องมือขั้นต้นในการปฏิรูปการเมือง ในการพัฒนาประชาธิปไตยหลักการที่รัฐธรรมนูญมักจะต้องกำหนดไว้ก็คือการกำหนด กรอบเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและกฎเกณฑ์ในการปกป้องสิทธิเสรีภาพดังกล่าวการเปิดช่องทางให้ คนทุกกลุ่มต่างในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนยากจนและคนกลุ่มน้อยมีโอกาสแสดงความ คิดเห็นและเรียกร้องในเรื่องต่างๆ ได้ การระบุให้รัฐต้องมีหน้าที่จัดบริการสาธารณะด้านต่าง ๆ ให้แก่ ประชาชน เช่น การบริการด้านการศึกษา สาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ ทั้งหลาย และการสร้างชุมชนทางการเมืองที่สามารถเผชิญและแก้ไขข้อขัดแย้งโดยวิธีการที่สันติ การปฏิรูปการเมืองจะประสบผลสำเร็จหรือไม่เพียงใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุก ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องคนไทยทั้งชาติ การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องของทุก ๆ คน ดังนั้น ประชาชนทุกคนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยจึงต้องร่วมกันผลักดันให้การปฏิรูปการเมืองของประเทศไทยในครั้งนี้ให้ประสบผลสำเร็จในที่สุด