ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย และคณะ
วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 10 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย และคณะ เพื่อยื่นร่างพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... พร้อมด้วยรายชื่อประชาชนจำนวน 11,745 คน โดยมีหลักการที่สำคัญ ดังนี้
1. เพิ่มเติมนิยามคำว่า "ผู้ประสบภัย" ให้ครอบคลุมทุกคนในประเทศทั้งบุคคลที่มีสถานะทางทะเบียน และไม่มีสถานะทางทะเบียน รวมทั้งชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยและเป็นผู้ประสบภัย เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เช่น ชาวเล ชาวเขา คนไทยพลัดถิ่น จะไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือของภาครัฐได้รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่บ้านเช่าด้วย
2. เพิ่มเติมนิยามคำว่า "สาธารณภัย" ให้ครอบคลุมถึงการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นภัยพิบัติประเภทหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันการกัดเซาะชายฝั่งกำลังเป็นภัยพิบัติเงียบที่ยังไม่มีแนวทางกระบวนการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน
3. ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ( กปภ.ช.) โดยเพิ่มองค์กรชุมชนและประชาชนผู้มีประสบการณ์จากการขับเคลื่อนงานส่งเสริมชุมชนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวซาญ หรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติชุมชน และผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ผู้มีประสบการณ์การส่งเสริมชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ
4. เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ในการส่งเสริมความรู้ชุมชนทั้งระดับจังหวัดไปจนถึงระดับตำบล ส่งเสริมสนับสนุนชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสนอแนะมาตรการทางการเงิน การคลังหรือมาตรการอื่น ๆ ในการส่งเสริมชุมชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ
5. เพิ่มอำนาจหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
6. เพิ่มเติมอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดในประกาศเขตภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ทันท่วงที
7. ให้มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ( กปภ.จ.) โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการภัยพิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
8. กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ มีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่นของตนและมีหน้าที่และอำนาจ ตลอดทั้งมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตการปกครองของตน
9. กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เกิดเหตุการณ์หรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยขึ้น มีหน้าที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ และเข้าดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยเร็ว
10. ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งในการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานครโดยให้มีผู้แทนชุมชน ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ในเขตกรุงเทพมหานครตามจำนวนที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเห็นสมควรแต่งตั้งเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสภาองค์กรชุมชน และเพื่อเป็นการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
11. กำหนดให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ( อสม.) และอาสาสมัครภัยพิบัติชุมชน หรือบุคคลอื่นใดที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตามคำสั่งผู้อำนวยการ ให้ได้รับค่าตอบแทน เบี้ยเลี้ยง และสิทธิประโยชน์ต่างๆ
12. กำหนดให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีอำนาจหน้าที่ในการสนับสนุนชุมชนและภาคประชาชนในการเตรียมความพร้อมการจัดการภัยพิบัติ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
นายชวน หลีกภัย กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ตนให้ความสำคัญกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชนเป็นอย่างยิ่งและขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายทุกคน โดยสภาชุดนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอกฎหมายต่าง ๆ เข้ามาให้สภาพิจารณาเป็นจำนวนมาก สำหรับขั้นตอนต่อไปนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการตรวจสอบเอกสารทั้งหมดว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ก่อนจะส่งลายมือชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปตรวจสอบที่กรมการปกครอง เมื่อตรวจสอบเอกสารการเข้าชื่อและคุณสมบัติว่าเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสร็จแล้ว สำนักงานฯ จะประกาศรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายในช่องทางต่าง ๆ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการดังกล่าว จะพิจารณาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมต่อไป