ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและรักษามาตรฐานการปฏิบัติงานของนักกฎหมายนิติบัญญัติ ครั้งที่ 3/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 10 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และคณะ เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.พักชั่วคราวระบบการอนุญาตตามกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบกิจการหรือการประกอบอาชีพของประชาชน พ.ศ. .... และ ร่าง พ.ร.บ.สภาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อยไทย พ.ศ. .... โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และคณะผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์เป็นผู้เชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้อื่นให้ร่วมเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.พักชั่วคราวระบบการอนุญาตตามกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบกิจการหรือการประกอบอาชีพของประชาชน พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.สภาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อยไทย พ.ศ. .... ขอยื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับดังกล่าว เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
สำหรับเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่าง พ.ร.บ.พักชั่วคราวระบบการอนุญาตตามกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบกิจการหรือการประกอบอาชีพของประชาชน พ.ศ. .... นั้น โดยที่มาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและการจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็น ประกอบกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐพึงยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีพหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน แต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันปรากฏว่ามีกฎหมายจำนวนหลายฉบับมากมายที่กำหนดให้การประกอบกิจการหรือการประกอบอาชีพต้องได้รับอนุญาตหรือใบอนุญาตอันไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์และเป็นอุปสรรคต่อประชาชนในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ เนื่องจากในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างมาก อันมีสาเหตุหลักคือการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สมควรฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยส่งเสริมให้ประชาชนประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ ทั้งนี้ การพักชั่วคราวระบบการอนุญาตตามกฎหมายที่ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงหรือความปลอดภัยของสังคม โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบการแจ้งเพื่อประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพแทนจะเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนสนใจที่จะประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตาม การพักชั่วคราวระบบการอนุญาตตามแนวทางของร่าง พ.ร.บ.นี้ จะต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์เมื่อพ้นระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งหากการประเมินไม่ผ่านก็สามารถยกเลิก พ.ร.บ.นี้ทั้งหมดหรือบางส่วนได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาในส่วนของร่าง พ.ร.บ.สภาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อยไทย พ.ศ. .... นั้น โดยที่มาตรา 75 วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้รัฐส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และสร้างเสถียรภาพให้แก่กิจการวิสาหกิจขนาดย่อม และขนาดกลาง โดยการสำรวจในปัจจุบันพบว่า ในประเทศไทยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ขนาดย่อม และขนาดย่อย กว่า 2.7 ล้านราย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าและให้บริการที่เป็นรากฐานสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มั่นคงและเจริญเติบโต แต่การส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐต่อภาควิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย ยังไม่ทั่วถึงและไม่ตรงต่อปัญหาที่ประสบอยู่ทำให้ประสบปัญหาในการดำเนินการเป็นอย่างมาก อาทิ การผลิต การจำหน่าย การตลาด การให้บริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน การส่งเสริมแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย ยังไม่มีองค์กรกลางของตนเองเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือปัญหาดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้สภาผู้ก่อตั้งสภาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อยไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้จัดตั้งขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมกลุ่มกันทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นอยู่แล้ว ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ให้มีโอกาสจัดตั้งเป็นองค์กรตามกฎหมายเพื่อจะได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการวิสาหกิจ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย มีความมั่นคง สู่ความเป็นเลิศ และก้าวสู่สากล ในการเป็นกลไกหรือเครื่องมือ ขับเคลื่อนเพื่อสนองตอบต่อนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนตลอดไป และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้