ประธานรัฐสภา บันทึกเทปการสัมภาษณ์จาก นายชัชวาล วิลาวรรณ ตัวแทนของนิตยสาร แม่น้ำโขง (ฉบับภาษาไทย) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานสารนิเทศ สำนักนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน
วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 10 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร บันทึกเทปการสัมภาษณ์จาก นายชัชวาล วิลาวรรณ ตัวแทนของนิตยสาร “แม่น้ำโขง“ (ฉบับภาษาไทย) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานสารนิเทศ สำนักนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีสำนักงานสารนิเทศรัฐบาลมณฑลยูนนาน เป็นผู้จัดทำ และดำเนินการผลิตโดยเครือหนังสือพิมพ์ยูนนาน เดลี่ กรุ๊ป การสัมภาษณ์ครั้งนี้ จะนำไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์มของเครือหนังสือพิมพ์ยูนนาน เดลี่ กรุ๊ป ทั้งภาษาไทย และภาษาจีน ภายในเดือนมีนาคม 2566 ทั้งนี้
สำหรับประเด็นสัมภาษณ์จะเป็นประเด็นที่สืบเนื่องมาจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งที่ประชุมได้สรุปความสำเร็จของการพัฒนาจีนด้านต่าง ๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งในปี พ.ศ. 2565 เป็นโอกาสครบรอบ 10 ปี แห่งการก่อตั้งความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุมระหว่างจีน – ไทย ทั้งนี้ มีนางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมในการนี้ด้วย
นายชวน หลีกภัย ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า จากคำกล่าวที่ว่า “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” นั้น ประเทศไทยสามารถที่จะมีความรู้สึกใกล้ชิดกันมากเพราะ ด้วยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ในอดีตคนจีนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ จึงเชื่อว่าจีน-ไทย มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก คนไทยเชื้อสายจีนจึงมีความรู้สึกดีงาม เหมือนเป็นญาติพี่น้องกัน และมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ความเจริญทั้งหลาย เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ที่ส่งผลถึงปัจจุบัน เห็นได้จากในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ประเทศจีนก็แสดงความช่วยเหลือมายังประเทศไทย และแม้ว่าการปกครองของทั้งสองประเทศจะมีความแตกต่างกัน แต่ความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานจะทำให้ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันในด้านต่างๆ อาทิ ความร่วมมือทางการค้า ซึ่งไทยและจีนมีส่วนร่วมในการเป็นสมาชิก RCEP ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่ร่วมก่อตั้ง โดยไทยเป็นระบบเศรษฐกิจเสรี เป็นประเทศคู่ค้ากับจีน และประเทศอื่นๆ มีการส่งออกสินค้าและสินค้าการเกษตร การที่จีนเปิดโอกาสให้ผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน ส่งไปขายที่จีน ช่วยทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้มากขึ้นถือเป็นคุณูปการที่สำคัญอย่างหนึ่ง จึงขอขอบคุณในเรื่องดังกล่าว สำหรับปัจจุบันที่มีการพัฒนารถไฟ จีน-ลาว และกำลังพัฒนาเชื่อมต่อกับรถไฟไทย นั้น อนาคตในไม่ช้า ก็จะมีการเชื่อมโยงรถไฟ จีน-ลาว-ไทย จนถึงมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระดับภูมิภาค ในโอกาสครบรอบ 20 ปี แห่งการก่อตั้ง "นิตยสารแม่น้ำโขง" นิตยสาร (ไทย- จีนสองภาษา) จึงขอแสดงความยินดีกับทางนิตยสารที่ได้ดำเนินการมาครบ 20ปี ถือเป็นนิตยสารที่ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจของสภาพภูมิประเทศและประโยชน์ของแม่น้ำโขงที่มีต่อการดำรงชีวิตของประชาชน 2 ฝั่งแม่น้ำ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านิตยสารฉบับนี้จะได้ขยายความเข้าใจให้ประชาชนทราบอย่างทันสมัย สุดท้ายขอให้นิตยสาร “แม่น้ำโขง“ (ฉบับภาษาไทย) มีความเจริญรุ่งเรือง และอยู่คู่พี่น้องไทย-จีนตลอดไป