คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าว ประธานสภามีจุดประสงค์ให้การประชุมและการอภิปรายทั่วไปดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อยเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน หากปล่อยให้ชื่อบุคคลภายนอกอยู่ในญัตติจะทำให้เกิดความเสียหายและความไม่เรียบร้อยในที่ประชุมจนยากจะแก้ไข จึงอยากให้แก้ไขข้อบกพร่อง ทั้งนี้ การแก้ไขยังอยู่ในกรอบระยะเวลา 7 วันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ
11 มีนาคม 2568
วันอังคารที่ 11 มีนาคม 2568 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายให้ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาฯ นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาฯ และว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการแก้ไขข้อบกพร่องญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1. เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 151 จะเห็นได้ว่าเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิการเข้าชื่อเสนอญัตติ การห้ามยุบสภาผู้แทนราษฎร การกำหนดวันลงมติ คะแนนเสียงในการลงมติ และเงื่อนไขของรัฐมนตรีที่พันจากตำแหน่ง แต่ยังคงต้องถูกอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจต่อไป โดยไม่ได้มีการบัญญัติเรื่องอำนาจความผูกพันในการใช้อำนาจของประธานสภาให้ต้องเปิดให้มีการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะไว้แต่อย่างใด แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 128 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้อำนาจแก่สภาผู้แทนราษฎรในการตราข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเปิดอภิปรายทั่วไปที่หมายความรวมถึงญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ด้วย โดยได้มีการกำหนดขั้นตอนที่เกี่ยวกับการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 หมวด 9 การเปิดอภิปรายทั่วไป ส่วนที่ 1 การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมตีไม่ไว้วางใจ ตั้งแต่ข้อ 175 ถึงข้อ 178 โดยเฉพาะข้อ 176 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดหน้าที่และอำนาจให้แก่ประธานสภาไว้อย่างชัดเจน ให้ทำการตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ หากมีข้อบกพร่องในญัตติ ให้ประธานสภาแจ้งผู้เสนอญัตติทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ เพื่อให้ผู้เสนอญัตติดำเนินการแก้ไขญัตติให้ถูกต้องต้องต่อไป การประชุมสภาไม่ได้มีการกำหนดนิยามของคำว่า "ข้อบกพร่อง" ไว้อย่างชัดเจนว่ามีเจตนารมณ์หมายถึงข้อบกพร่องที่เป็นข้อผิดพลาดในเชิงข้อเท็จจริงหรือรูปแบบเท่านั้น เช่น มีรายชื่อผู้เสนอที่ไม่ครบตามเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด ลายมือชื่อของผู้เสนอไม่ถูกต้องตรงกันกับลายมือชื่อจริง ระบุชื่อรัฐมนตรีที่ระบุในญัตติผิดพลาด ไม่ถูกต้อง หรือมีการอ้างถึงมาตราหรือข้อกฎหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เป็นต้น จึงเป็นอำนาจของประธานสภาที่จะใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคำดังกล่าว เมื่อผู้เสนอญัตติได้ดำเนินการแก้ไขญัตติถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ประธานสภาจึงจะสั่งให้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ ตามข้อ 176 วรรคสอง ทั้งนี้ เมื่อปี 2545 นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ได้ขอให้ผู้เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลปรับปรุงและแก้ไขญัตติดังกล่าว เนื่องจากเนื้อหาของญัตติมีข้อบกพร่องตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2544 ข้อ 155 (ตรงกับข้อ 176) และให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง นายชวน หลีกภัย ผู้เสนอญัตติในขณะนั้น ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขญัตติ เพื่อเป็นการให้ความร่วมมือตามที่ประธานสภาขอมาและเพื่อให้การประชุมสภาในญัตติดังกล่าวได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เทียบเคียงได้กับกรณีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 ที่ระบุว่า "...การบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 119 "
2. ข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 178 และข้อ 69 เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ห้ามผู้อภิปรายออกชื่อบุคคลโดโดยไม่จำเป็น และในการอภิปรายที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือสมาชิกได้รับความเสียหาย หรือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม สมาชิกผู้นั้นต้องรับผิดชอบผลแห่งการกระทำนั้น ประธานสภามีจุดประสงค์ให้การประชุมและการอภิปรายทั่วไปดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน จึงเห็นว่าหากปล่อยให้ชื่อบุคคลภายนอกดังกล่าวอยู่ในญัตติต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายและความไม่เรียบร้อยในที่ประชุมจนยากจะแก้ไข แม้สมาชิกผู้อภิปรายจะต้องรับผิดชอบผลแห่งการอภิปรายนั้นเองก็ตาม เพราะสมาชิกฝ่ายหนึ่งก็จะออกชื่อบุคคลภายนอกดังกล่าวในการอภิปรายด้วยเป็นการอภิปรายที่ยังอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ แต่สมาชิกอีกฝ่ายหนึ่งก็จะประท้วงว่าสมาชิกผู้อภิปรายกระทำผิดข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 69 วรรคสอง และประท้วงประธานสภากระทำผิดข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 9(3) ที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการรักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมสภา ซึ่งประธานสภาต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยเพราะย่อมพิจารณาเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว ประธานสภาจึงใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยว่า การระบุชื่อบุคคลภายนอกไว้ในญัตติเป็นข้อบกพร่องและให้ผู้เสนอญัตติดำเนินการแก้ไขญัตติให้ถูกต้องตามข้อ 176 สำหรับญัตติขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการหรือขอให้คณะกรรมาธิการสามัญคณะใดคณะหนึ่ง กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภาตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 49 ไม่ได้มีการกำหนดขั้นตอนเกี่ยวกับการเสนอญัตติไว้เช่นเดียวกับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตามข้อ 176 ทำให้การตรวจสอบความถูกต้องของญัตติตามข้อ 49 กับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมตีไม่ไว้วางใจมีความแตกต่างกัน อีกทั้งในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญที่ประชุมสภาสามารถตั้งบุคคลภายนอกมาเป็นกรรมาธิการวิสามัญได้ และในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการก็สามารถเชิญบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งต่างจากกรณีของญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ที่บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้ามาร่วมชี้แจงในที่ประชุมสภาได้
3. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบลายมือชื่อในเอกสารพบว่าลายมือชื่อของผู้ร่วมเสนอไม่ตรงกับตัวอย่างที่ให้ไว้กับสำนักงานฯ จำนวน 10 คน จึงได้ประสานกันกับนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ผู้เสนอหลัก นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน และสมาชิกพรรคประชาชนและพรรคไทยสร้างไทย ทั้ง 10 คน เพื่อเป็นการยืนอันว่าเป็นลายมือมือชื่อของผู้เสนอจริง จนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 สมาชิกได้มาลงชื่อยืนยันว่าเป็นผู้เสนอญัตติดังกล่าวจริง ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของการเสนอญัตติดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จึงได้บันทึกความเห็นเสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เพื่อนำกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอนุญาตบรรจุระเบียบวาระการประชุมต่อไป แม้ว่าสำนักงานฯ จะได้รับญัตติฉบับนี้ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 แต่เนื่องจากญัตติฉบับนี้มีผู้เสนอญัตติ จำนวน 10 คน มีลายมือมือชื่อไม่ตรงกับที่แจ้งต่อสำนักงานฯ ไว้ เจ้าหน้าที่จึงได้ประสานให้ผู้เสนอญัตติทราบ เพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง โดยมีการลงลายมือชื่อรับรองใหม่ครบถ้วนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 จึงถือว่าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นวันที่สำนักงานฯ ได้รับญัตติถูกต้องครบถ้วนที่จะสามารถเสนอประธานสภาเพื่อพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 176 ได้ ซึ่งประธานสภาได้มีการเชิญผู้นำฝ่ายค้านมารับทราบและขอให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2568 จึงยังอยู่ภายในกรอบระยะเวลา 7 วันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ