ประธานรัฐสภา รับฟังการนำเสนอสรุปความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่ จ.ตรัง
วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม ชั้น 10 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รับฟังการนำเสนอสรุปความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่ จ.ตรัง ประกอบด้วย โครงการจัตุรัสเมืองตรัง ระยะที่ 1 บริเวณหอนาฬิกาเมืองตรัง โครงการจัตุรัสเมืองตรัง ระยะที่ 2 บริเวณรอบศูนย์ราชการ 2 และโครงการปรับปรุงกะพังสุรินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จากตัวแทนของกรมโยธาธิการและผังเมือง และบริษัทที่ปรึกษาโครงการ
โดยมี นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายวสันต์ นุ้ยภิรมย์ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมรับฟังการนำเสนอ
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีเป้าหมายสำคัญที่จะนำทิศทางการพัฒนาไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงรุก การกระจายรายได้ การสร้างความสมดุลของการพัฒนาให้กับทุกภาคส่วน รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีพื้นที่การดำเนินการไม่น้อยกว่า 10 ชุมชน ภายในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพโดดเด่นในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลระดับนานาชาติ มีมนต์เสน่ห์ของความเป็น “Andaman Cluster” อีกทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล หมู่เกาะ ประวัติศาสตร์ ประเพณีท้องถิ่น และชุมชนที่มีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ
สำหรับโครงการจัตุรัสเมืองตรังนั้น เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมและยกระดับถนนสายหลักของเมืองเป็นลานศูนย์กลางกิจกรรมในระดับเมือง ตั้งอยู่บริเวณถนนวิเศษกุล ระหว่างถนนวิเศษกุลตัดกับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) และบริเวณถนนวิเศษกุลตัดกับถนนพระราม 6 มีขนาดพื้นที่ประมาณ 9-2-60 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาให้เป็น “จัตุรัสเมืองตรัง” หรือพื้นที่สาธารณะที่มีความหลากหลาย ทั้งในมิติแห่งเวลาที่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ในการรองรับกิจกรรมในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิติของกายภาพ และสังคมที่สามารถรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ของเมือง จังหวัด กลุ่มจังหวัด และประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิผลในอนาคตเพื่อนำพาเมืองตรังไปสู่สังคมที่ยั่งยืนต่อไป