ประธานรัฐสภา ลงพื้นที่สวนพฤกษ์ศาสตร์ทุ่งค่าย จ.ตรัง เพื่อติดตามและเก็บรวบรวมภาพโครงการปลูกต้นไม้
วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะ ประกอบด้วย นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายณัฐกานต์ ชูชนะ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เดินทางไปยังสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย เพื่อติดตามและเก็บรวบรวมภาพโครงการปลูกต้นวงศ์ยมชวน ซึ่งนายชวน หลีกภัย ได้ปลูกเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2559 ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) โครงการปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2559 พร้อมกันนี้ได้ศึกษาดูงานโครงการสวนพฤกษ์ศาสตร์ พร้อมทั้งพบปะหารือและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่ายแห่งนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ 2,600 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เดิมชื่อ สวนรุกขชาติทุ่งค่าย เริ่มจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2529 โดยกรมป่าไม้ ตามนโยบายของนายชวน หลีกภัย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก 2 ก.ค.2531 และเป็นสถานที่อนุรักษ์พันธุ์ไม้ สัตว์ป่า และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนทั่วไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 สวนรุกขชาติทุ่งค่าย ได้ยกฐานะเป็นสวนพฤกษศาสตร์ ตามนโยบายจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ขึ้น อยู่ในกำกับดูแลของส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้ชื่อว่า สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ (ทุ่งค่าย) และในปี พ.ศ. 2550 ได้ย้ายมาสังกัดสำนักบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 20 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย มีการจัดให้มีเส้นทางเพื่อเดินศึกษาธรรมชาติบริเวณโดยรอบ และมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่สำคัญ คือ เส้นทางสะพานศึกษาเรือนยอดไม้แห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยในขณะนี้ โดยสะพานมีความยาว 175 เมตร ความสูง 3 ระดับ ตั้งแต่ 10 – 18 เมตร ประกอบด้วย 5 ช่วงสะพาน และ 6 หอคอย เส้นทางนี้สามารถมองเห็นป่าไม้ในระยะใกล้ชิด และได้สัมผัสกับธรรมชาติของสังคมพืชระดับเรือนยอดไม้ ของต้นไม้สูง ๆ ได้อย่างชัดเจนในระดับสายตา ไม่ว่าจะเป็น ใบ ดอก และผล รวมถึงเห็นสัตว์ป่าจำพวกนก กระรอก กระแต ลิง ค่าง โดยไม่ต้องแหงนหน้าขึ้นฟ้าแล้วใช้กล้องส่อง