ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง นายรัคมัต บูตีมัน (HE. Mr. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง นายรัคมัต บูตีมัน (HE. Mr. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อแนะนำตัว และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมี นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายวิวัฒน์ มุ่งการดี ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร น.ส.สตีจิตร ไตรพิบูลย์สุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมให้การรับรอง
นายชวน หลีกภัย กล่าวต้อนรับด้วยความยินดี พร้อมทั้งแจ้งเรื่องการส่งคณะผู้แทนไทยไปเข้าร่วมการประชุมสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union : IPU) ครั้งที่ 144 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งปกติจะไม่ส่งคณะผู้แทนไปประชุมต่างประเทศในช่วงนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แต่ตนได้อนุมัติเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นความร่วมมือที่ใกล้ชิดของฝ่ายนิติบัญญัติและเชื่อมั่นการดูแลป้องกันโรคโควิด-19 ของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ในปี 2565 นี้ รัฐสภาไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly : AIPA Caucus) ในเดือนมิถุนายน 2565 และการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Parliamentary Forum - APPF) ครั้งที่ 30 ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อินโดนีเซีย ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ โดยสมาชิกรัฐสภาไทยได้ให้ความสนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มมิตรภาพฯ จำนวนมาก โดยตนประสงค์ให้สมาชิกรัฐสภารุ่นใหม่ได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกัน รวมทั้งความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมเก่าแก่ของอินโดนีเซีย
โอกาสนี้ นายชวน หลีกภัย กล่าวถึงเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า ได้เดินทางเยือนอินโดนีเซีย
หลายครั้ง ได้พบปะหารือกับประธานาธิบดีซูฮาร์โต และนายกรัฐมนตรีมหาธีร์มูฮัมหมัดของมาเลเซีย เพื่อริเริ่มความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ หรือแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia - Malaysia - Thailand Growth Triangle : IMT-GT) ซึ่งยังคงมีการดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2565 นี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม IMT-GT ระดับผู้นำ และอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพการประชุมดังกล่าว ในปีถัดไป และช่วงปี 2542 ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (The Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ณ ประเทศนิวซีแลนด์ ตนได้พบหารือกับประธานาธิบดีฮาบิบีของอินโดนีเซีย โดยประธานาธิบดีฮาบิบีได้ขอให้ไทยช่วยส่งกองกำลังทหารไปร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (UN Peacekeeping) ในติมอร์ตะวันออก ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญของกองทัพไทย เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ทหารไทยได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพฯ เพื่อดูแลความสงบในพื้นที่ดังกล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ไปเยือนอินโดนีเซียในฐานะประธาน องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization : SEAMEO) ได้ไปเยี่ยมเยียนและเรียนรู้วิถีชุมชนต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่น่าประทับใจเป็นอย่างมาก อีกทั้ง ผ้าบาติกของอินโดนีเซียยังมีชื่อเสียงจนได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดในโลก
ในการนี้ ขอชื่นชมในการควบคุมและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของอินโดนีเซียที่สามารถดำเนินการได้ดี และขอแสดงความยินดีในการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย ซึ่งจะช่วยกระจายความเจริญออกไป อีกทั้งยังส่งผลให้เมืองหลวงเดิมมีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ขอฝากความระลึกถึงและความปรารถนาดีไปยังประธานสภาผู้แทนอินโดนีเซีย และเอกอัครราชทูตอะฮ์มัด รุสดี ที่พ้นวาระการดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต โอกาสนี้ ขอเรียนเชิญเอกอัครราชทูตไปเยือน จังหวัดตรัง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ต่อไป
ด้านนายรัคมัต บูตีมัน ได้กล่าวขอบคุณประธานรัฐสภาที่ให้เกียรติตนเข้าเยี่ยมคารวะในวันนี้ และรู้สึกยินดีที่รัฐสภาไทยส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุม IPU ครั้งที่ 144 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียพร้อมสนับสนุนการเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวอย่างเต็มที่ สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยมาประมาณ 2 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็ได้เดินทางไปพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยเพื่อพบกับข้าราชการระดับสูงในพื้นที่และนักวิชาการเพื่อสานต่อความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้กระชับแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยคนไทยมีความเป็นมิตร จิตใจดี การประจำการในประเทศไทยมีความอบอุ่นเสมือนเป็นบ้านตนเอง นอกจากนี้ กลุ่มมิตรภาพรัฐสภาของทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมายาวนาน โดยรัฐสภาอินโดนีเซียได้จัดทำ MOU เรื่องการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาของทั้งสองประเทศ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาของทั้งสองประเทศให้กระชับแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดย ณ ปัจจุบัน MOU เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะได้จัดแปลเป็นภาษาไทยและภาษาอินโดนีเซีย จึงหวังว่าจะได้มีการลงนาม MOU ฉบับนี้ และหวังว่าประธานรัฐสภาจะสนับสนุนการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครั้งนี้ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และในปี 2565 นี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อินโดนีเซีย ครบรอบ 72 ปี ซึ่งในปีที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดอบรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมอินโดนีเซีย โดยมีนักศึกษาและนักเรียนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกันยายน 2565 สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียจะจัดเทศกาลส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอินโดนีเซีย จึงหวังว่าจะมีหลายภาคส่วนเข้าร่วมกิจกรรม สำหรับการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียมีการวางแผนมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยรัฐสภาอินโดนีเซียได้มีมติผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการย้ายเมืองหลวงจากจารการ์ตาไปยังเกาะบอร์เนียว ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของอินโดนีเซีย โดยเมืองใหม่จะเป็นนครอัจฉริยะ และเป็นเมืองสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในการนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียได้ฝากความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังประธานรัฐสภา