ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานในพิธีมอบเข็มกิตติคุณและประกาศนียบัตรสถาบันพระปกเกล้า ประจำปี 2564
วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2565 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ ห้องวายุภักษ์ 5 - 7 ชั้น 5 ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานในพิธีมอบเข็มกิตติคุณและประกาศนียบัตรสถาบันพระปกเกล้า ประจำปี 2564 โดยมี ศ. วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวรายงานสำหรับผู้ได้รับเข็มกิตติคุณสถาบันพระปกเกล้า ประจำปี 2564 ได้แก่บุคคลที่บำเพ็ญประโยชน์ให้สถาบันพระปกเกล้า และมีเกียรติประวัติอันดีควรแก่การยกย่องให้ปรากฏสืบไป ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีผู้เข้ารับเข็มกิตติคุณสถาบันพระปกเกล้า จำนวนทั้งสิ้น 18 ราย ผู้เข้ารับประกาศนียบัตรสถาบันพระปกเกล้า ได้แก่ผู้สำเร็จการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ จำนวน 7 หลักสูตร ประกอบด้วย 1.หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (โรงเรียนสุจริต) รุ่นที่ 6 จำนวน 69 ราย 2. หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 8 จำนวน 95 ราย 3. หลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายท้องถิ่น รุ่นที่ 9 จำนวน 38 ราย 4. หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลของผู้บริหารระดับกลาง รุ่นที่ 22 จำนวน 61 ราย 5. หลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี รุ่นที่ 5 จำนวน 41 ราย 6. หลักสูตรประกาศนียบัตรไทยกับประชาคมอาเซียนในเศรษฐกิจการเมืองโลก รุ่นที่ 10 จำนวน 52 ราย และ 7. หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 10 จำนวน 114 ราย รวมจำนวนทั้งสิ้น 488 ราย ในการนี้ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทน และคณะผู้บริหารสถาบันพระปกเกล้า ร่วมพิธี
ในโอกาสนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า กล่าวแสดงความยินดีและให้โอวาทแก่ผู้ได้รับเข็มกิตติคุณและประกาศนียบัตรสถาบันพระปกเกล้า ความว่า รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีที่ได้มาทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีมอบเข็มกิตติคุณสถาบันพระปกเกล้าให้แก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อสถาบัน และมอบประกาศนียบัตรสถาบันพระปกเกล้าให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรต่าง ๆ ขอแสดงความยินดีกับทุกคนที่มีโอกาสได้เข้าเรียนแต่ละหลักสูตร เพราะหลายหลักสูตรมีคนต้องการเรียนมาก แต่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ เนื่องจากแต่ละหลักสูตรรับจำนวนผู้เรียนจำกัด คนที่สำเร็จการศึกษาทั้งหมดในวันนี้ถือว่าได้รับความรู้จากสถาบันพระปกเกล้าตามความสนใจและความตั้งใจของแต่ละคน เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ ขอให้ทุกคนนำความรู้ไปใช้ พร้อมทั้งปฏิบัติดีและปฏิบัติชอบ เพราะหากเรียนจบไปแล้วแต่พฤติกรรมบางอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เช่น หาผลประโยชน์ ไม่ซื่อสัตย์สุจริต หลักสูตรต่าง ๆ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เสียเงินและเสียเวลาเปล่า ๆ หากผลิตคนมีความรู้ไปโกงกินคนอื่น ทุกคนที่สำเร็จการศึกษาทั้ง 7 หลักสูตรจะเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองในรุ่นของพวกท่านต่อไป ขณะนี้บ้านเมืองเรามีปัญหาบางอย่างที่ไม่ได้อยู่ที่เรื่องของความรู้เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่สำนึกและความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง เช่น ความประพฤติชอบ มิชอบการทุจริต หรือไม่ทุจริต ความสุจริตหรือไม่สุจริต จึงทำให้สภาผู้แทนราษฎร จัดทำโครงการบ้านเมืองสุจริตเพื่อรณรงค์เรื่องความสุจริต ตลอดจนทำให้คนทุกระดับทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน นักเรียน และนักเรียนนักศึกษา มีภูมิคุ้มกันเรื่องความสุจริต ตนเคยเล่าให้พวกเราฟังว่า ช่วงปลายของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานเงินก้อนหนึ่งให้กับองคมนตรี ไปทำโครงการร่วมกับโรงเรียน คือสร้างคนดี สภาฯ จึงทำโครงการบ้านเมืองสุจริต เพราะไม่อาจดูดายปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรมโดยต่างคนต่างอยู่ หรืออยู่บนความคิดว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องนี้เป็นของฝ่ายนิติบัญญัติ เรื่องนี้เป็นของฝ่ายบริหาร เรื่องนี้เป็นของฝ่ายตุลาการ ไม่เกี่ยวกับเรา เราจะปล่อยไปตามยถากรรมแบบนี้ไม่ได้ ทุกคนต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อสร้างความสุจริตในบ้านเมืองทุกระดับ ทุกสถาบัน ทุกองค์กร ทั้งหมดเหล่านี้ขึ้นอยู่กับพวกเรา จึงมีการรณรงค์ให้กรรมการ โดยมีตัวแทนจากสถาบันการศึกษาทุกระดับมาทำเข้าใจร่วมกัน พร้อมทั้งขอให้ทุกสถาบันย้ำเรื่องความสุจริต เพราะเชื่อว่าความสุจริตจะนำมาซึ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความมีวินัย หรืออะไรก็ตามหากจำได้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราโชวาทเป็นอมตะไว้ครั้งหนึ่งว่า บ้านเมืองมีทั้งคนดีและไม่ดี ไม่มีใครสามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองเป็นปกติเรียบร้อย จึงไม่เพียงแต่ทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากต้องส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง อย่าให้คนไม่ดีมีอำนาจ นี่คือหัวใจของการยอมรับความดี เพราะไม่มีวันที่เราจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้หมด ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต แต่จะทำอย่างไรให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง ตอนที่เราทำโครงการบ้านเมืองสุจริตนั้น เราไม่ได้หวังว่า ถ้าทำโครงการแล้วทุกคนจะดีเหมือนกันหมด หากทำในโรงเรียน 100 คนแต่มีคนดี 10 คน และ 10 คนนี้ในวันหนึ่งอาจจะเป็นผู้นำในบ้านเมือง มีฐานะ มีตำแหน่ง เชื่อว่าความดีที่เป็นภูมิคุ้มกันนั้น จะทำให้งานของสถาบันทั้งหลายที่คนเหล่านี้เข้ามารับผิดชอบไปในทิศทางที่ดี ในทางตรงข้ามหากเราได้คนไม่ดีคนทุจริตเข้ามาจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย เมื่อมีการทุจริตก็จะมีการเอาคืน นี่คือความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เราต้องยอมรับความจริงและไม่ดูดาย จึงขอให้ทุกคนสอนและปลูกฝังความสุจริตโดยไม่ดูดาย สร้างภูมิคุ้มกันเรื่องนี้ให้กับทุกคน ตระหนักและยึดถือเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และหลักธรรมาภิบาล และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และขอให้ปฏิบัติภารกิจของท่านด้วยความซื่อตรง มีความสุจริต สิ่งเหล่านี้จะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของสถาบันพระปกเกล้า ที่ได้ให้ความรู้กับคนดี และคนเหล่านั้นนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมืองต่อไป และขอให้หมั่นแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองตลอดเวลา