ประธานรัฐสภา ให้การรับรอง คณะ กมธ.สมาชิกรัฐสภาสมาคมการค้าเสรียุโรป ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในระดับรัฐสภาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA)
วันพุธที่ 7 กันยายน 2565 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง น.ส.อิงกิเบิร์ก โอเลิฟ อิซักเซน หัวหน้าคณะ กมธ.สมาชิกรัฐสภา EFTA จากไอซ์แลนด์ และสมาชิกรัฐสภาจาก EFTA ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรียุโรป โดยมี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง นายศราวุธ เพชรพนมพร ประธานคณะ กมธ.การต่างประเทศ นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ประธานคณะ กมธ.การอุตสาหกรรม นายเกียรติ สิทธีอมร รองประธานคณะ กมธ.การต่างประเทศ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ โฆษกคณะ กมธ.การแรงงาน นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายวิวัฒน์ มุ่งการดี ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร น.ส.สตีจิตร ไตรพิบูลย์สุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายไกร มหาสันทนะ รองอธิบดีกรมยุโรป และผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมให้การรับรอง
ในการนี้ ประธานรัฐสภา ได้กล่าวต้อนรับและหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับ EFTA หลังจากที่คณะผู้แทนของ EFTA มีกำหนดการเยือนไทยในปี 2563 แต่ถูกเลื่อนไปเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างไรก็ดี EFTA ถือเป็นกลุ่มประเทศขนาดเล็กที่แม้ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองในหลายด้าน รวมทั้งมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนานกับประเทศไทย สำหรับการจัดทำ FTA ไทย – EFTA หากฝ่ายบริหารสามารถเจรจาการจัดทำ FTA ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ 2 ปี รัฐสภาไทยในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติมีความพร้อมที่จะสนับสนุนร่างกฎหมายในการจัดทำข้อตกลงดังกล่าวให้สำเร็จโดยเร็วผ่านกลไกของรัฐสภาต่อไป
ด้าน หัวหน้าคณะ กมธ.สมาชิกรัฐสภา EFTA ได้กล่าวขอบคุณประธานรัฐสภา ที่ได้ให้การต้อนรับในครั้งนี้ และกล่าวว่า ปัจจุบัน EFTA มีสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ พร้อมทั้งกล่าวว่า ตนยินดีที่ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับ EFTA มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญของ EFTA อยู่แล้ว การจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับ EFTA โดยผ่านกระบวนการผลักดันทางการเมืองจึงจะสร้างประโยชน์ให้กับทั้งสองฝ่ายและเสริมศักยภาพด้านการพัฒนาให้กับประเทศไทย รวมทั้งยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่ายให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นในอนาคต
เครดิตข่าว : กลุ่มงานข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร