วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2567 เวลา 10.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายให้ นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนรับยื่นหนังสือจาก นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม ตัวแทนประชาชนที่เป็นผู้เสียหายจากคดีที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ 6 คดี เพื่อขอให้ตรวจสอบความคืบหน้าของคดีและหามาตรการช่วยเหลือนำทรัพย์สินที่ยึดได้เฉลี่ยคืนให้แก่ผู้เสียหาย ด้วยมีประชาชนที่เป็นผู้เสียหายในคดีที่ถูกหลอกลวงให้ร่วมลงทุนธุรกิจประเภทต่าง ๆ จำนวน 6 คดี ดังนี้ 1. คดีพิเศษที่ 84/2566 มีผู้เสียหายกว่า 1,000 คน เข้าให้ปากคำแล้ว 367 คน โดยเป็นคดีชื่อ WCF หรือ World Class Financial Intelligance หรือต่อมาถูกเรียกว่า แชร์แคร์รอต ที่มีการขยายวงการหลอกลวงกว้างมากขึ้น โดยหลอกให้ลงทุนเทรดในแพลตฟอร์มปลอมที่อ้างว่าเป็นตลาดเทรดเงินตราต่างประเทศตามความผันผวนของค่าเงินของโบรคเกอร์ที่ได้รับการรับรอง มีการสร้างเครือข่าย การระดมทุนซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท
2. คดีพิเศษที่ 23/2563 คดีหลอกลงทุน สปอร์ต อาบิตทราจ โดยหลอกลวงให้ลงทุนเพื่อทำกำไรในส่วนต่างในการแข่งขันของกีฬาประเภทต่าง ๆ โดยอ้างว่าใช้ AI ในการวิเคราะห์ผลลัพธ์และมีการทำการตลาดในต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าความเสียหาย 1,000 ล้านบาท
3. คดีพิเศษที่ 78/2565 และคดีพิเศษที่ 252/2565 คดีถูกชักชวนให้ลงทุนกับบริษัท ออสซี่ออยล์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด หลอกลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจเฟรนไชส์เพื่อการเกษตร โครงการรถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า คลังน้ำมันชุมชน โรงผลิตไฟฟ้าชุมชนจากโซล่าเซลล์ โดยมีการจัดงานที่ อบจ.ราชบุรี และมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ จนทำให้ประชาชนหลงเชื่อ รวมเงินทุนกว่า 822 ล้านบาท
4. คดีพิเศษที่ 63/2564 และคดีพิเศษที่ 275/2565 คดีถูกหลอกลวงให้ลงทุนกับบริษัท คอนเซ็ปต์ ซีรี่ส์ จำกัด โดยหลอกลวงให้ร่วมลงทุนเกี่ยวกับการให้บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ระบบ Cloud Storage แก่เจ้าของเว็บไซต์และเจ้าของแอปพลิเคชันต่าง ๆ ทั้งโลก เพื่อเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ สัญญาเช่า 3 ปี ค่าเช่ากล่องละ 3,000 บาท มีผลตอบแทนชั่วโมงละ 13.20 บาท ต่อกล่อง ต่อวัน มีผู้เสียหาย 3,413 คน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,558 ล้านบาท
5. คดีพิเศษที่ 19/2566 คดีบริษัทเจเอ็น ริช กรุ๊ป มีการหลอกให้สมัครทำงานออนไลน์กดเพิ่มยอดไลค์ได้รับค่าตอบแทนครั้งละ 39 บาท แต่ต่อมาได้หลอกให้มีการลงทุนโดยอ้างว่าได้รับผลประโยชน์จากการแนะนำหรือชักชวนในลักษณะรอลูกโซ่ ให้หาคนมาออมเงินโดยให้ผลตอบแทนที่สูงมาก มีผู้เสียหายนับพันคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะลำบากทำให้เกิดเป็นหนี้สิน มูลค่าความเสียหายประมาณ 200 ล้านบาท
6. คดีที่ยื่นกับกรมสอบสวนคดีพิเศษตามหนังสือที่ 33343 ลงวันที่ 13 ส.ค. 67 ซึ่งเป็นการหลอกลงทุนกับบริษัท Super Good Money หรือ SGM เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนรายวัน ร้อยละ 2 - 4 ต่อวัน และมีการแจ้งสมาชิกว่ามีโปรโมชั่น ST Bonus ให้สมาชิกรับกำไรร้อยละ 90 ทำให้สมาชิกหลงเชื่อลงทุนไปและต่อมาไม่สามารถติดต่อกับทางบริษัทได้อีก รวมทั้งมีการไล่ลบสมาชิกออกจนหมด มีผู้เสียหายประมาณ 1,000 คน มูลค่าความเสียหายประมาณ 200 ล้านบาท
ทั้งนี้ รวมผู้เสียหายทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน มูลค่าความเสียหายประมาณ 4,600 ล้านบาท จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ช่วยพิจารณาหาแนวทางในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้รับการเฉลี่ยคืนทรัพย์ให้กับผู้เสียหายตามหลักฐานที่พิสูจน์เป็นที่ประจักษ์ได้ว่ามีการลงทุนจริง เพราะผู้ที่ถูกหลอกลวงได้รับความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง รวมทั้งขอให้ช่วยเร่งรัดติดตามคดีความต่าง ๆ ที่ยังค้างในระบบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเร่งรัดให้ส่วนราชการคลี่คลายปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนและให้ได้รับเงินที่ลงทุนกลับคืนมาไม่มากก็น้อย และจะแจ้งประชาชนให้ทราบเป็นระยะ ๆ เพื่อคลายความกังวลและจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป พร้อมกันนี้ ขอให้สื่อมวลชนช่วยกันกระจายข่าวไปยังหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ด้วย