คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งศึกษาดูงานและรับฟังการบรรยายเรื่อง การจัดการท่องเที่ยวและปรับปรุงภูมิทัศน์
23 พฤษภาคม 2568
วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2568 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ พระรามราชนิเวศน์ จ.เพชรบุรี คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) นำโดย พลเรือเอก ประเสริฐ บุญทรง พร้อมด้วยบุคลากรสำนักงานเลขานุการ ก.ร. สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ พันเอก พีรฉัตร พานทอง รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 ให้การต้อนรับ จากนั้น คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) นำโดย พลเรือเอก ประเสริฐ บุญทรง ได้มอบเงินบำรุงรักษาพระราชวัง และของที่ระลึกเพื่อแสดงความขอบคุณ โดยมี พันเอก พีรฉัตร พานทอง รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 เป็นผู้รับมอบ โอกาสนี้ คณะฯ ได้ศึกษาดูงานและรับฟังการบรรยายเรื่อง การจัดการท่องเที่ยวและปรับปรุงภูมิทัศน์ ด้วย
พระรามราชนิเวศน์ หรือ พระราชวังบ้านปืน เป็นพระราชวังแบบยุโรป ใช้สถาปัตยกรรมแบบบาโรค (Baroque) และแบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau) เป็นประทับแปรพระราชฐานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อเสด็จประพาส จ.เพชรบุรี ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านปืน ริมแม่น้ำเพชรบุรี จ.เพชรบุรี โดยมี คาร์ล ดอห์ริง สถาปนิกชาวเยอรมนีเป็นผู้ออกแบบ ดร.ไบเยอร์ เป็นนายช่างก่อสร้าง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น) ทรงควบคุมการก่อสร้าง และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต (พระยศขณะนั้น) ทรงควบคุมด้านการไฟฟ้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2453 แต่การก่อสร้างดำเนินได้ไม่นานก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างสร้างต่อจนเสร็จในปี 2459 รวมเวลาสร้างเกือบ 7 ปี และโปรดเกล้าฯ ให้มีงานฉลองพระตำหนักวันที่ 13 มิถุนายน 2461 และพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามที่ประทับแห่งใหม่ว่า “พระรามราชนิเวศน์” นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงดำเนินการหล่อรูปปั้นพระนารายณ์ทรงปืนเพื่อนำมาประดิษฐานไว้ยังหน้าพระที่นั่ง (ปัจจุบัน รูปปั้นนี้ย้ายมาไว้ยังหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) แต่คนทั่วไปจะเรียกติดปากว่า "วังบ้านปืน" ตามชื่อเดิมของถิ่นที่อยู่ แม้ว่าพระรามราชนิเวศน์จะสร้างเสร็จในรัชกาลที่ 6 แต่พระองค์ก็มิได้เสด็จประพาสมายังพระราชนิเวศน์แห่งนี้บ่อยนัก จะเสด็จมาประทับเพื่อทอดพระเนตรการซ้อมเสือป่าบ้าง แต่ก็น้อยครั้งมาก วังนี้จึงเริ่มทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ
ครั้นมาถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดฯ ให้ปรับพระราชนิเวศน์แห่งนี้เป็นสถานศึกษาของเหล่าครูในแขนงวิชาชีพต่าง ๆ มาจนกระทั่งวิชาชีพเหล่านี้แข็งแกร่งขึ้นจนย้ายออกไปตั้งอยู่ที่อื่นได้ พระราชนิเวศน์แห่งนี้จึงถูกปล่อยให้ทรุดโทรมลงอีกครั้ง หลังจากนั้น พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชนิเวศน์ฯ เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม โรงเรียนฝึกหัดครูผู้กำกับลูกเสือในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงเรียนประถมวิสามัญหญิง จนกระทั่งโรงเรียนเหล่านี้ย้ายออกไป พระราชวังบ้านปืนจึงถูกทิ้งให้รกร้างอีกครั้ง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ฝ่ายทหารได้ใช้พระราชวังนี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการทหาร ปัจจุบันโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นที่ตั้งของจังหวัดทหารบกเพชรบุรีและต่อมาได้เป็นมณฑลทหารบกที่ 15 และได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และศิลปะของ จ.เพชรบุรี โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โปรดฯ ให้ใช้พระรามราชนิเวศน์นี้เป็นหน่วยบัญชาการของทหารบก และเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะของ จ.เพชรบุรีด้วย