สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยค่าบริการพิเศษ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการร้านค้ามีการเรียกเก็บค่าบริการพิเศษ เป็นจำนวนมาก แต่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการพิเศษเพื่อใช้บังคับระหว่างผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และลูกจ้าง จึงส่งผลให้เกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการเนื่องจากไม่ทราบหลักเกณฑ์ที่แน่นอนว่าควรต้องคำนวณค่าบริการพิเศษอย่างไร รวมไปถึงเกิดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบระหว่างผู้ประกอบการและลูกจ้างเนื่องจากค่าบริการพิเศษที่เรียกเก็บนั้น
กลับตกเป็นของผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียว อีกทั้ง ไม่มีหน่วยงานราชการควบคุมตรวจสอบเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการพิเศษ ดังนั้น เพื่อให้การเรียกเก็บค่าบริการพิเศษมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนและสามารถใช้บังคับระหว่างผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และลูกจ้างได้อย่างชัดเจนและเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
    1) กระทรวงพาณิชย์
    2) สภาองค์กรของผู้บริโภค
    3) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
    4) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
    5) สหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย
    6) สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย


2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
    1) กระทรวงมหาดไทย
    2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ


3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
    ประชาชน
 

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดบทนิยามในร่างพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ อย่างไร และบทนิยามดังกล่าวมีความครอบคลุมแล้วหรือไม่ อย่างไร
  2. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้ประกอบการมีสิทธิกำหนดค่าบริการพิเศษไม่เกินร้อยละสิบของราคาสินค้าหรือค่าบริการ และมีหน้าที่แสดงข้อความที่บ่งบอกว่าร้านค้ามีการเรียกเก็บและอัตราที่เรียกเก็บ รวมถึงผู้ประกอบการต้องจัดทำเอกสารซึ่งระบุอัตราค่าบริการพิเศษ จำนวนลูกจ้างซึ่งทำงานภายในสถานประกอบการของตน และรายละเอียดการจัดสรรค่าบริการพิเศษที่ลูกจ้างแต่ละคนจะได้รับ เพื่อนำส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกหกเดือน หรือไม่ อย่างไร
  3. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าบริการพิเศษตามการจัดสรรของผู้ประกอบการในสัดส่วนที่เท่ากัน และผู้ประกอบการไม่มีสิทธินำค่าบริการพิเศษมาจัดสรรให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณรวมกับเงินเดือนและสินน้ำใจ และการใช้สิทธิเรียกร้องค่าบริการพิเศษให้ดำเนินการภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ผู้ประกอบการปฏิเสธไม่ชำระหรือไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่ผู้ประกอบการได้รับค่าบริการพิเศษจากผู้บริโภค หรือไม่ อย่างไร
  4. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธการชำระค่าบริการพิเศษที่ไม่แสดงข้อความที่บ่งบอกว่ามีการเรียกเก็บ แต่กรณีที่ได้แสดงย่อมมีสิทธิเรียกเก็บ และหากผู้บริโภคปฏิเสธไม่ชำระโดยไม่มีเหตุทางกฎหมายที่จะอ้างได้ ผู้ประกอบการย่อมมีสิทธิร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ หรือไม่ อย่างไร
  5. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้รัฐมนตรีแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินการเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการพิเศษ และกรณีมีข้อโต้แย้งให้คู่กรณีร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าเพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ คู่กรณีมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันมีคำวินิจฉัย หรือไม่ อย่างไร
  6. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจมีหนังสือเรียกผู้ประกอบการมาให้ถ้อยคำ แจ้งข้อเท็จจริง ทำคำชี้แจง หรือให้ส่งบัญชี ทะเบียน เอกสารเพื่อตรวจสอบ ประกอบการพิจารณา รวมถึงเข้าไปในสถานที่ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ให้มีอำนาจสอบถามข้อเท็จจริง หรือเรียกบัญชี ทะเบียน เอกสารอื่นจากผู้ประกอบการ หรือจากบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องตลอดจนสั่งให้บุคคลดังกล่าวซึ่งอยู่ในสถานที่นั้นปฏิบัติการเท่าที่จำเป็น หรือไม่ อย่างไร

    นอกจากนี้ ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ และพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวของตนต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ตามสมควร หรือไม่ อย่างไร
  7. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งหนังสือเรียกผู้ประกอบการ ณ ภูมิลำเนา หรือสถานที่ทำการ หรือจะส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก็ได้ ทั้งนี้ กรณีที่นำส่งแล้วแต่ปฏิเสธไม่ยอมรับโดยปราศจากเหตุอันสมควร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจไปเป็นพยาน เพื่อวางหนังสือเรียกไว้ ณ ที่นั้น แต่ถ้าไม่พบบุคคลซึ่งระบุไว้ ณ ภูมิลำเนา หรือสถานที่ทำการ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ณ ที่นั้นก็ได้ และถ้าไม่พบบุคคลใดหรือพบแต่ไม่ยอมรับไว้ ให้ปิดหนังสือเรียกนั้นไว้ในที่ที่เห็นได้ง่าย ณ ที่นั้นต่อหน้าผู้ที่ไปเป็นพยาน เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบุคคลซึ่งระบุไว้ได้รับแล้ว ถ้าเป็นการปิดหนังสือเรียก ให้ถือว่าได้รับเมื่อครบกำหนดห้าวันนับแต่วันปิดหนังสือเรียก แต่ถ้าเป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ให้ถือว่าได้รับเมื่อครบกำหนดห้าวันนับแต่วันรับ หรือไม่ อย่างไร
  8. ท่านเห็นว่าการเรียกเก็บค่าบริการพิเศษในปัจจุบันมีปัญหาและอุปสรรคในทางปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร
  9. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)