การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน |
กระทู้ถามที่ 290/2555
| สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24/2554 |
วันที่เสนอ |
22 สิงหาคม 2561 |
สมัยคณะรัฐมนตรี |
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร |
ชื่อผู้ตั้งกระทู้ถาม |
นายสุกิจ ก้องธรนินทร์ พรรคประชาธิปัตย์ แบบบัญชีรายชื่อ |
ชื่อผู้ถูกตั้งกระทู้ถาม |
นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) |
ชื่อผู้ตอบกระทู้ถาม |
รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา) |
ประเภทกระทู้ถาม |
กระทู้ถามที่ตอบในราชกิจจานุเบกษา |
สถานภาพกระทู้ถาม |
กระทู้ถามที่ตอบในที่ประชุม
ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129
ตอนพิเศษ 47 ง หน้า 60 - 64 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2555
|
สรุปสาระสำคัญของกระทู้ถาม |
ด้วย พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบไปด้วยสามเสาหลักที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นสมาชิกของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต้องมีการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาคมระดับภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม กฎหมาย และการเมือง เป็นต้น จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วนของประเทศเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประชาคมที่สมบูรณ์ต่อไป ผู้ตั้งกระทู้ถามขอทราบว่า
รัฐบาลมีนโยบายในการเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วนของประเทศไทยเพื่อการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนอย่างไร ขอทราบรายละเอียด
|
สรุปสาระสำคัญของคำตอบกระทู้ถาม |
รัฐบาลมีนโยบายในการเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วนของประเทศเพื่อการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน ซึ่งจุดมุ่งหมายของนโยบายรัฐบาล คือ เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 อย่างสมบูรณ์ โดยสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งในด้านต่าง ๆ และนอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกหลายประการเพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ จากการรายงานของกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้
1. เป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียนภายใน พ.ศ. 2558
1.1 อาเซียนมีเป้าหมายจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015)
โดยวิสัยทัศน์ร่วมของผู้นำอาเซียน คือ การสร้างประชาคมอาเซียนที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง มีกฎเกณฑ์กติกาที่ชัดเจน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเมื่อ พ.ศ. 2551 อาเซียนได้จัดทำกฎบัตรอาเซียนหรือธรรมนูญอาเซียน เพื่อวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กร
1.2 ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยเสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานประสานงานหลัก) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานประสานงานหลัก) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานประสานงานหลัก) โดยอาเซียนได้จัดทำแผนงาน (blueprint) สำหรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในแต่ละเสา
2. กลไกสำคัญระดับชาติ ได้แก่
2.1 คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน
เป็นกลไกตัดสินใจและประสานงานระดับนโยบาย เพื่อบูรณาการการดำเนินการของหน่วยงานไทยและเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. 2558 อย่างเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการประชุมทุก 2 - 3 เดือน
2.2 สำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นตามข้อ 13 ของกฎบัตรอาเซียน โดยมีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อเป็นผู้ประสานงานกลางแห่งชาติ ในเรื่องการอนุวัติข้อตัดสินใจของอาเซียนและเตรียมการระดับชาติของการประชุมอาเซียน รวมทั้งให้มีส่วนร่วมในการสร้างประชาคมอาเซียนและเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาเซียน
2.3 คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการสำหรับการดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในแต่ละเสา โดยหน่วยงานที่เป็นผู้ประสานงานของแต่ละเสาเป็นประธาน
3. การเตรียมความพร้อมของภาครัฐ
เพื่อให้หน่วยราชการไทยดำเนินการเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการต่างประเทศได้ผลักดันประเด็นต่อไปนี้
3.1 การเสนอให้มีการจัดตั้งกลุ่มงานที่รับผิดชอบประเด็นเกี่ยวกับอาเซียนโดยตรง (ASEAN Unit) ในแต่ละหน่วยงานให้สามารถดำเนินการและเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.2 ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพื่อให้มีการจัดโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนแก่ข้าราชการ พัฒนาทักษะการทำงานในการเจรจาระหว่างประเทศ รวมทั้งทักษะภาษาอังกฤษและภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นให้กับข้าราชการ
3.3 การแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กรอบอาเซียนในทั้งสามเสา เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัยและเอื้อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันและใช้โอกาสจากประชาคมอาเซียนได้อย่างเต็มที่
3.4 การร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการฝึกอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนและกลับไปถ่ายทอดยังโรงเรียน และสถานศึกษาของตนต่อไป
4. การเตรียมความพร้อมของภาคประชาชน
ในการเตรียมความพร้อมของภาคประชาชน กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนโดยได้ดำเนินการดังนี้
4.1 กิจกรรมอาเซียนสัญจร เน้นเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ และจังหวัดชายแดนเป็นพื้นที่สำคัญอันดับต้น
4.2 กิจกรรมวันอาเซียน (8 สิงหาคม)
4.3 การจัดสัมมนาและการส่งวิทยากรบรรยาย ให้แก่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ตามที่ได้รับการร้องขอ
4.4 การจัดทำสื่อเผยแพร่ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ รายการโทรทัศน์ วิทยุ โดยร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนแก่สาธารณชน เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เพื่อความรู้สึกเป็นเจ้าของอาเซียนและการเป็นพลเมืองอาเซียน
4.5 การสนับสนุนเครือข่ายศูนย์อาเซียนศึกษา และหลักสูตรอาเซียนศึกษาภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ
4.6 โครงการสัมมนาครูต้นแบบสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อให้ครูเป็นกลไกในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนต่อเยาวชนไทย
4.7 การจัดค่ายเยาวชนอาเซียนเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้ และมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น
4.8 การสนับสนุนการสอนภาษาอังกฤษ และภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น
5. การเตรียมความพร้อมภาคเอกชนและแรงงาน
เพื่อให้ภาคเอกชนและแรงงานสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างเต็มที่โดยเฉพาะการที่อาเซียนมุ่งสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ควรให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในประเด็น ดังนี้
5.1 การพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนและแรงงานไทยให้ตอบสนองความต้องการและมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดอาเซียน
5.2 การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีทั้งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น
5.3 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการกำหนดนโยบายและการเจรจาความตกลงต่าง ๆ ของภาครัฐ
5.4 การรักษาคุณภาพสินค้าให้ได้ตามความต้องการของตลาดและผ่านเกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศที่กำหนด
5.5 การส่งเสริมการสร้างและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายนักธุรกิจและผู้ประกอบการในอาเซียน
5.6 การจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อลดทอนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจไทยโดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
|
เอกสารต้นเรื่อง |
1. ต้นฉบับกระทู้ถาม 2. สรุปสาระสำคัญ
|