มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
line-nav

ความเป็นมา

สืบเนื่องจากการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานหน้าอาคารสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา เมื่อปี พ.ศ. 2523 ได้มีประชาชนบริจาคเงินสมทบทุน ในการสร้างเป็นจำนวนมากเกินกว่าจำนวนที่ต้องการ คณะกรรมการอำนวยการสร้างฯ จึงเห็นสมควรนำเงินส่วนที่เหลือจัดตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสนองศรัทธาของประชาชนผู้บริจาคสืบไป

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมูลนิธิว่า “มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) ได้มีพระบรมราชานุญาติให้ตั้งมูลนิธิฯ นี้ได้

สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา จึงได้ดำเนินการขอตั้งมูลนิธิฯ และกระทรวงมหาดไทยได้อนุญาตให้จัดตั้งมูลนิธิได้โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2524

ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์สมทบทุนมูลนิธิฯ บรรดาข้าราชบริพารได้โดยเสด็จพระราชกุศล และประชาชนผู้จงรักภักดีได้บริจาคสมทบทุนสืบต่อมา พร้อมกันนั้น สมเด็จฯ ได้พระราชทานราชภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวได้โอนย้ายไปสังกัด สถาบันพระปกเกล้า และจัดแสดงอยู่ที่อาคารอนุรักษ์ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ครั้นเสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. 2527 มูลนิธิฯ จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมชื่อมูลนิธิฯ ใหม่ โดยผนวกพระนามไว้ด้วย และในงานนิทรรศการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ประชาชนได้บริจาคเงินและได้รับหนังสือพระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นการตอบแทน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามราชกุมารี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินนี้ให้แก้มูลนิธิฯ

จึงกล่าวได้ว่ามูลนิธิฯ จัดตั้งและดำเนินการมาได้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและแรงศรัทธาของประชาชนผนวกกัน

ทรัพย์สินของมูลนิธิฯ มีทุนเริ่มแรกคือ เงินสด จำนวน 1,777,777.77 บาท เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2555 มูลนิธิฯ มีเงินกองทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 22 ล้านบาทเศษ มูลนิธิฯ ใช้เงินบริจาคที่ผู้บริจาคมิได้แสดงเจตนาให้เป็นเงินสมทบทุนกับดอกผลจากกองทุนดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ตามนัยแห่งพระราชประสงค์ที่จะยังประโยชน์แก่ประเทศชาติ ความกินดีอยู่ดีและการส่งเสริมสติปัญญาของประชาชนอีกทั้งเผยแพร่พระเกียรติคุณ ดังต่อไปนี้ ดังนั้นในภาวะปัจจุบันดอกผลจากกองทุนจึงจำกัด ทำให้ยากแก่การที่มูลนิธิฯ จะขยายงานหรือเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาแต่ละทุน

วัตถุประสงค์

  1. ก. สนับสนุนการอบรมการศึกษา และให้ความช่วยเหลือแก่นักศึกษาที่ขัดสน
  2. ข. สนับสนุนสถาบันการแพทย์ และจัดให้การรักษาพยาบาลแก่คนไข้ที่ยากจน
  3. ค. เผยแพร่พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
  4. ง. ร่วมมือ ส่งเสริม และประสานงานกับสถาบันการกุศลอื่น
  5. จ. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
  6.  
 

โครงการให้ทุนการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยและวิทยาลัยพยาบาล

มูลนิธิฯ ให้ทุนการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษาที่มีสัญชาติไทย มีภูมิลำเนาอยู่ในชนบท มีความประพฤติดี มีผลการเรียนพอสมควร ขาดแคลนทุนการศึกษา มีเจตนาที่จะทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะในชนบท หรือในท้องถิ่นที่นิสิตนักศึกษามีภูมิลำเนาอยู่ มอบทุนแก่นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐ 10 สถาบัน จำนวน 38 ทุน ทุนละ 8,000.- บาทต่อปี ตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ตลอดหลักสูตร และให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ทุนละ 4,000.- บาท ต่อเนื่องจนจบหลักสูตรการศึกษา

โครงการให้ทุนการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกเพื่อการค้นคว้าวิจัย

มูลนิธิฯ ให้ทุนการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษาชั้นบัณฑิตศึกษา สัญชาติไทยในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนในประเทศไทย เพื่อใช้ในการค้นคว้าวิจัยในหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ตั้งแต่ 7,000 - 15,000.- บาท

โครงการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน

มูลนิธิฯ ให้ทุนนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายที่สนใจเรียนทางสายวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ จำนวน 101 ทุน โดยพิจารณาโครงงานหรือบทความที่เกี่ยวข้องทางด้านวิทยาศาสตร์ ทุนละ 2,000.- บาท ทุนแก่บุตรข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนประมาณ 40 ทุน

การเผยแพร่พระเกียรติ

มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการโดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ด้านการสนับสนุนการอบรมการศึกษา จึงได้สนับสนุนการจัดการสัมมนา การพิมพ์หนังสือและการผลิตและบริการโสตทัศนวัสดุ ซึ่งมีสาระเกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องแก่สมัยรัชกาลที่ 7 และพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์